
ไทยเบียดดูไบคว้าเจ้าภาพ
ขายตรงโลก‘WFDSA2020’
“สมาคมการขายตรงไทย” คว้าเจ้าภาพประชุมระดับโลกปี 2020 “WFDSA 2020 World Congress” เบียด “ดูไบ” จัดขึ้นครั้งแรกในไทย เผย 6 ชาติอาเซียนหนุนขึ้นเป็นตัวแทนชิงชัย คาดมีผู้เข้าร่วมประชุมร่วม 1,000 คน จากผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง สมาชิก "สมาพันธ์การขายตรงโลก" ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก พร้อมโชว์ศักยภาพความพร้อมเป็นเจ้าภาพ แสดงถึงความแข็งแกร่ง ได้มาตรฐานของสมาคมฯ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นางสุชาดา ธีรวชิรกุล นายกสมาคมการขายตรงไทย (TDSA : Thai Direct Selling Associations) เปิดเผยว่า สมาพันธ์การขายตรงโลก (WFDSA : World Federation of Direct Selling Associations) ได้คัดเลือกให้ สมาคมการขายตรงไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก WFDSA 2020 World Congress ครั้งที่ 16 ซึ่งการจัดการประชุมสมาพันธ์การขายตรงโลก มีกำหนดจัดขึ้นทุก 3 ปี ซึ่งปีล่าสุด 2017 ครั้งที่ 15 จัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 1 - 3 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา
โดยในที่ประชุมคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ ได้โหวตให้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดประชุมในปี 2020 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความแข็งแกร่ง มาตรฐานของ สมาคมการขายตรงไทย ที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และความพร้อมของประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจากสมาคมการขายตรงประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์การขายตรงโลก, หน่วยงานภาครัฐ, หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค, สถาบันการศึกษา, สื่อมวลชน ร่วม 1,000 คน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ประเทศประมาณ 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยกำหนดจัดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020
“นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก WFDSA 2020 World Congress ซึ่ง สมาคมการขายตรงไทย ได้เสนอตัวเข้าคัดเลือกเป็นครั้งที่ 2 ก็ได้รับการคัดเลือก จึงเป็นที่ภาคภูมิใจของพวกเรา ล่าสุดไปประชุมที่ ปารีส ฝรั่งเศส มีผู้เข้าประชุม 500 คน 20 ประเทศ จากสมาชิก 60 ประเทศ สมาคมฯ ก็ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐไปร่วมประชุมด้วย เพื่อให้เห็นภาพธุรกิจขายตรงที่แท้จริง เพราะหน่วยงานภาครัฐในแต่ละประเทศมีความเข้าใจธุรกิจขายตรงที่แตกต่างกัน”
ทั้งนี้ การประชุม WFDSA World Congress จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และ ร่วมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจขายตรง รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์และแสดงศักยภาพของธุรกิจขายตรง ในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจโลก และคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ ซึ่ง สมาพันธ์การขายตรงโลก มีคณะกรรมการในการขับเคลื่อนให้ไปสู่ความสำเร็จอย่างมีรูปธรรม รวมทั้งเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ถูกต้องของธุรกิจขายตรง ซึ่งต่างจากแชร์ลูกโซ่ที่อดีตได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขายตรงอย่างมาก แต่ในปัจจุบันนี้ส่งผลน้อยลง เพราะประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น และแบรนด์ขายตรงเอง ก็สามารถไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยผู้ประกอบการขายตรงในแต่ละประเทศทำงานเข้มแข็งและทำอย่างถูกต้อง ธุรกิจจึงเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับมีการพัฒนาบุคลากรไปในทิศทางที่ถูกต้อง
“ที่สำคัญที่เราเห็นในการประชุม ก็คือ หัวข้อในการประชุมที่เปลี่ยนไป ช่วงนี้เราจะคุยเรื่อง “โลกดิจิทัล” กันเยอะ การใช้เครื่องมือออนไลน์มาสร้างธุรกิจขายตรงให้เติบโตเร็วขึ้นอย่างไร ในขณะที่การกำกับดูแลนักธุรกิจอิสระ จะต้องทำให้ถูกต้องและยั่งยืน เพราะโลกออนไลน์มีทั้งมุมบวกมุมลบ ฉะนั้น ดีก็ดีได้เร็ว เสียก็เสียได้เร็ว เราจะส่งเสริมและกำกับนักธุรกิจอิสระบนโลกออนไลน์กันอย่างไร ในขณะที่ส่วนใหญ่ในการประชุม เราจะพูดกันถึงการพัฒนากฎหมายขายตรงว่า วิธีการกำกับดูแลธุรกิจขายตรงของแต่ละประเทศมีอะไรก็เอามาแชร์กัน และยังมีเรื่องปัญหาการจัดการต่าง ๆ ในโลกที่เปลี่ยนไปมีวิธีการจัดการอย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีสาระทุกครั้ง แล้วจะเห็นทิศทางขายตรงที่ชัดเจน
นายกสมาคมการขายตรงไทย กล่าวว่า เหตุผลที่ สมาคมการขายตรงไทย ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระดับโลก WFDSA 2020 World Congress ครั้งที่ 16 จากที่มีผู้เสนอตัวคัดเลือกและได้ผ่านเข้ารอบมา 2 ประเทศ คือ ไทย กับ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ดูไบ) ซึ่งสิ่งที่ได้รับการคัดเลือกมี 2 - 3 องค์ประกอบ คือ 1. คณะกรรมการสมาพันธ์การขายตรงโลก เห็นว่า สมาคมการขายตรงไทย มีความพร้อมและมีความแข็งแรงมีอายุถึง 43 ปีแล้ว โดยก่อตั้งสมาคมฯ มาตั้งแต่ปี 2526 ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ปัจจุบันมีสมาชิก 32 บริษัท มีส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจขายตรงประมาณ 60 - 70% ของตลาดรวม ถือว่าเป็นผู้นำที่ชี้นำทิศทางธุรกิจขายตรงของประเทศ
2. สมาคมการขายตรงไทย เคยได้รับรางวัลเหรียญทองจาก สมาพันธ์การขายตรงโลก ถึง 2 รางวัล คือรางวัลระดับเหรียญทองการส่งเสริมธุรกิจขายตรง กับรางวัลเหรียญทองการบริหารจัดการสมาคม ประกอบกับสมาพันธ์การขายตรงโลก เคยทำงานกับ สมาคมการขายตรงไทย ในหลาย ๆ เรื่องหลัก ๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ร่วมกันมา โดยมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ 3. ในเรื่องกลยุทธ์ของ สมาคมการขายตรงไทย ก็ครอบคลุม ทำให้ สมาพันธ์การขายตรงโลก พอใจ อาทิ เรื่องการศึกษาการพูดถึงภาพลักษณ์ที่ถูกต้องของธุรกิจขายตรง การพูดถึงการจัดการด้านการแข่งขันของธุรกิจ การพูดถึงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคที่มีความใกล้ชิดมีความเข้าใจ ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคระหว่างธุรกิจขายตรงกับแชร์ลูกโซ่ การพูดถึงเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ที่ต้องเริ่มทำมาตั้งแต่ เรื่องจรรยาบรรณธุรกิจต้องใช่ คุณภาพสินค้าต้องถึง สรุปทั้งความพร้อมและกลยุทธ์ คณะกรรมการสมาพันธ์การขายตรงโลก มีความพอใจ
ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ สมาคมการขายตรงโลก ได้นำมาเป็นจุดขายในการนำเสนอการคัดเลือก ก็คือ เรื่องของยอดธุรกิจขายตรงที่เติบโตสูงสุดอยู่ในภูมิภาคที่ประเทศไทยอยู่ โดยในปี 2016 ที่ผ่านมา มีนักขายตรงทั่วโลกถึง 107 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.1% จากปี 2015 และมีมูลค่าตลาดรวมธุรกิจขายตรงทั่วโลกอยู่ที่ 182.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2013 – 2016) อยู่ที่ 5.2% โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนยอดขายสูงสุด ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ที่มีสัดส่วนยอดขายถึง 46% มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 6.7%, ภูมิภาคอเมริกา มีสัดส่วนยอดขาย 33% โดยเติบโตเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 3.3%, ในขณะที่ภูมิภาคยุโรป มีสัดส่วนยอดขาย 20% เติบโตเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 4.9% และ แอฟริกา / ตะวันออกกลาง มีสัดส่วนยอดขาย 1% โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 6.0%
“ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจขายตรงเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา แต่มาเติบโตจริง ๆ ในภาคพื้นบ้านเรา จุดนี้แหละที่เราเอาไปขายเขา ยอดเยี่ยมไปกว่านั้นใน 10 ประเทศ ที่มียอดธุรกิจสูงสุดของโลก มีถึง 4 ประเทศที่อยู่ในภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก จะเห็นว่าจีนมียอดธุรกิจถึง 19% ซึ่งที่ผ่านมา จีนกับสหรัฐอเมริกาก็มียอดสูสีกันมาก ก็มีสลับกันบางปี เกาหลี 9% ญี่ปุ่น 8% มาเลเซีย ชาติในอาเซียนก็ติดท็อปเท็น มียอดธุรกิจ 3% ด้วยเหตุผลอันนี้ที่เขาเลือกเราเป็นเจ้าภาพ”
สำหรับประเทศที่มีมูลค่าตลาดรวมธุรกิจขายตรงสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2016 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่าตลาดรวม 35,540 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จีน 33,888 ล้านเหรียญ เกาหลี 16,862 ล้านเหรียญ เยอรมนี 15,878 ล้านเหรียญ ญี่ปุ่น 15,305 ล้านเหรียญ บราซิล 8,689 ล้านเหรียญ แม็กซิโก 5,855 ล้านเหรียญ มาเลเซีย 4,819 ล้านเหรียญ ฝรั่งเศส 4,568 ล้านเหรียญ สหราชอาณาจักร 3,845 ล้านเหรียญ ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 13 มีมูลค่าตลาด 2,644 ล้านเหรียญ หรือ 93,333 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดขายตรงในภูมิภาคอาเซียน ไทย นับเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย และอันดับ 3 ฟิลิปปินส์ อันดับ 4 อินโดนีเซีย อันดับ 5 เวียดนาม และอันดับ 6 สิงคโปร์ โดยทั้ง 6 ประเทศนี้เป็นสมาชิกของสมาพันธ์การขายตรงโลก
นายกสมาคมการขายตรงไทย กล่าวต่อว่า จากยอดธุรกิจที่เติบโตสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเติบโตอีกนาน จึงน่าจะมีผลต่อผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมด้วย เพราะการจัดงานในภูมิภาคเอเชียที่มีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ น่าจะมีโอกาสที่จะมาร่วมงานมากกว่า ในขณะเดียวกันในเรื่องของเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโซเชียล เน็ตเวิร์ค เรื่องโลกดิจิทัล อี-คอมเมิร์ซ เรื่องของจิตวิญญาณความต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ คนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ก็มีความตื่นตัวกันมากที่สุดในโลก
ฉะนั้น การที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ จึงถือว่าเหมาะสมมาก ไม่เพียงเท่านั้นที่ตั้งของประเทศไทย คนอยู่ทั่วทุกมุมโลกก็เดินทางมาไม่ยาก เพราะมีการยกเว้นวีซีร่วมกับประเทศอื่น ๆ ถึง 49 ประเทศไปแล้ว รวมทั้งประเทศไทยมีอาหารการกินที่ดี สถานที่ท่องเที่ยวมีมาก สถานที่จะจัดประชุมก็มีมาก สามารถเลือกได้การเดินทางสะดวกสบาย
อีกสิ่งหนึ่งที่มีส่วนช่วยผลักดันให้ สมาคมการขายตรงไทย ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ ก็คือ การได้รับการสนับสนุนจาก 6 ชาติสมาชิก สมาคมการขายตรงอาเซียน ที่ร่วมกันผลักดัน โดยสมาชิกทั้ง 6 ชาติได้ร่วมกันทำงานอย่างเข้มแข็ง เมื่อรู้ว่า สมาคมการขายตรงไทย ได้เสนอตัวเข้าคัดเลือกเป็นเจ้าภาพ ก็ไม่มีชาติใดเสนอตัวแข่งขันกลับสนับสนุนให้เป็นตัวแทนของกลุ่มไปร่วมคัดเลือก ซึ่ง สมาคมการขายตรงอาเซียน ได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อเตรียมรองรับการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จากการเห็นแนวโน้มของตลาด AEC สมาคมการขายตรงทั้ง 6 ชาติ จึงได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมอาเซียนขึ้นทำงานร่วมกัน โดยสมาคมจะมีการจัดประชุมร่วมกันปีละ 2 ครั้ง
ล่าสุด ได้มีการจัดประชุม ASEAN’s DSA ครั้งที่ 8 เมื่อกลางปีที่ผ่านมาในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสมาคมในประเทศอาเซียน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ การทำตลาด และการดำเนินกิจการอย่างดีที่สุด พร้อมทั้งสร้างประโยชน์ในระดับภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจใน AEC ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันต่อต้านแชร์ลูกโซ่
ส่วนภาพรวมของตลาดขายตรงไทยในสิ้นปี 2017 มียอดธุรกิจประมาณการที่ 95,000 ล้านบาท โดยเติบโตประมาณ 2% จากปี 2016 โดยมีนักธุรกิจขายตรงไทยกว่า 11 ล้านคน ซึ่งธุรกิจขายตรงไทยมีปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้ธุรกิจเติบโตไปข้างหน้าหลายประการ อาทิ เรื่องโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ธุรกิจขายตรงไทยก็สามารถปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์นี้ได้ แบบไม่เร็วแต่ก็ไม่ช้า สังเกตได้จากบริษัทขายตรงข้ามชาติรายใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทย มีการใช้เครื่องมือออนไลน์ ก็สามารถทำให้นักธุรกิจสามารถทำงานได้แบบสะดวกรวดเร็วและเติบโตกันได้ดี ในขณะที่บริษัทขนาดกลางและเล็ก บางบริษัทสามารถเติบโตได้ 200 - 300% ซึ่งมีผลมาจากการร่วมใช้ระบบออนไลน์ควบคู่ไปกับระบบออฟไลน์ เนื่องจากธุรกิจขายตรงมีคนอยู่แล้ว เมื่อนำเครื่องมือมาให้สมาชิกใช้จึงสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
“ในขณะที่แนวโน้มเทคโนโลยีในวันข้างหน้า ก็เอื้อกับธุรกิจขายตรง เอื้อกับการเป็นตัวเรา ซึ่งตรงหัวใจของธุรกิจที่จะเห็นได้ว่า มีการรวมกลุ่มเป็นคอมมินิตี้มากขึ้น กลุ่มต่าง ๆ ก็จะอยู่ด้วยกัน มีความสนใจเดียวกัน เขาก็จะดูแลกัน เรื่องแบบนี้มันเป็นศาสตร์และศิลป์ของธุรกิจขายตรงมาตั้งแต่เกิด ตรงนี้ทำให้เราเติบโตอย่างธรรมชาติ เพราะเป็นธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน และถ้าบริษัทขายตรงทำสินค้าที่มีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภคก็จะไปได้ดี เพราะว่าเรามีคอมมินิตี้อยู่แล้ว ซึ่งสอดคลองกับโลกดิจิทัลพอดี”
อีกปัจจัยบวกคือ สินค้าสุขภาพที่มียอดขายสูงสุดในธุรกิจขายตรง จะขายดีเมื่อได้ฟังจากผู้ที่เคยใช้มาก่อน ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้จะโฆษณาแรงไม่ได้ จึงเหมาะกับธุรกิจขายตรงอย่างมาก และทำให้ธุรกิจขายตรงเติบโตสวนกระเศรษฐกิจ ผนวกกับในยุคนี้เทรนด์ของคนรุ่นใหม่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น ต้องการมีอิสระในการทำรายได้ ต้องการมีความสุขในการหาเงิน ธุรกิจขายตรงก็เอื้ออย่างเห็นได้จัด จะเห็นได้ว่า บริษัทขายตรงบางแห่งมีคนรุ่นใหม่เขามาทำธุรกิจมากขึ้น และอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ช่องทางธุรกิจขายตรงมีความใกล้ชิดผู้บริโภคอยู่แล้ว เสียงสะท้อนจากการใช้สินค้าจะสามารถบอกได้ทันทีเลย ว่า สินค้าได้รับการตอบรับดีหรือไม่ดีตรงไหน ต้องปรับอะไรก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ค้าปลีกจะทำได้ช้า
ในขณะที่ปัจจัยลบที่มีต่อธุรกิจขายตรงไทย ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ไม่มาก ก็คือ เศรษฐกิจที่ขยับตัวช้าลง ทำให้กำลังซื้อลด กลุ่มที่จับตลาดบนก็ยังไปได้ แต่กลุ่มตลาดล่างขึ้นบนก็จะขับเคลื่อนธุรกิจได้ยาก และอีกปัจจัย คือ เรื่องของการแข่งขันที่สูงขึ้น กำแพงการเข้าตลาดต่ำลงเรื่อย ๆ จากเดิมสินค้าหนึ่งแบรนด์ที่จะเข้าตลาดจะต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง แต่ปัจจุบันถ้าแบรนด์ใดมีการวางตำแหน่งที่ชัดเจน ก็สามารถเข้าหากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้เลย โดยการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค ซึ่งต้นทุนไม่แพง ฉะนั้น ธุรกิจขายตรงก็เจองานหนักไม่แพ้ช่องทางอื่นเช่นกัน ถ้ามองเป็นโอกาสผู้ประกอบการก็สามารถเจาะตลาดใหม่ได้เร็ว แต่คู่แข่งก็มาเร็วเช่นกัน
“จากปัจจัยดังกล่าวที่เกิดขึ้นถ้าถามว่า บริษัทขายตรงที่จะโตคืออะไร สินค้าต้องใช่ คุณภาพต้องมา แบรนด์ต้องชัดเจน สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างที่ตัวเองต้องการ ต้องส่งเสริมให้นักธุรกิจอิสระมีความรู้เยอะ ๆ ทำเป็นทั้งออนไลน์และออฟไลน์”