
คงปฏิเสธไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล ที่เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนทั้งโลก รูปแบบการตลาดเปลี่ยนไป รูปแบบการลงทุนเปลี่ยนไป รูปแบบร้านค้าก็เปลี่ยนไป
การแข่งขันเข้มข้น พัฒนาไปในรูปแบบต่าง ๆ ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เพราะวิวัฒนาการของนักคิด นักพัฒนาระบบ พัฒนาแพลตฟอร์ม กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์
ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจไม่ใช่แหล่งของการลงทุนเพียงแห่งเดียวอีกต่อไป เพราะการระดมทุนรูปแบบใหม่ ๆ การนำสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาใช้ในกลุ่มตนเอง กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก
คนจีนยุคใหม่หลีกเลี่ยงการใช้เงินสด หันมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าผ่านบาร์โค้ด โดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงิน
การระดมทุนในมิติใหม่อย่าง ICO ได้เกิดขึ้นในสังคมโลก นับเป็นกระแสฮอตฮิตติดชาร์ทอันดับต้น ๆ ของโลกการลงทุนเลยก็ว่าได้ เพราะนักลงทุนต่างก็เชื่อว่า สามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าการลงทุนปกติทั่ว ๆ ไป
นักวิเคราะห์กล่าวถึง ICO (Initial Coin Offering) ไว้ว่า มันคือการเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น ถือเป็นการระดมทุน และลงทุนเพื่อที่จะเปิดตัวโปรเจ็กต์โครงการ หรือ ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท สตาร์ทอัพ โดยมีการออกเหรียญดิจิทัล (ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นมา โดยมีฐานเป็น Ethereum) มาเพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในตัวโปรเจ็กต์ดังกล่าว (หรือแม้กระทั่งบริษัท) กล่าวคือ อาจจะคล้ายคลึงกับ IPO หรือ Initial Public Offering ที่เรารู้จักกันดี เพียงแต่ตัวหุ้นนั้นจะถูกแทนที่ด้วยเหรียญดิจิทัล และสามารถนำไปแลกหรือซื้อขายเป็นเหรียญสกุลอื่น ๆ ได้อย่าง Bitcoin
มันต่างจากการเสนอขายหุ้นในระยะเริ่มต้นหรือ IPO โดยการได้มาซึ่งเหรียญ ไม่ได้แปลว่า เรามีสิทธิหรือมีส่วนร่วมในหุ้นส่วนของบริษัทที่กำลังสร้างเงินดิจิทัลสกุลใหม่นั้น ๆ IPO นั้นถูกรองรับโดยรัฐบาล แต่ ICO นั้นยังไม่มีกฎหมายที่แน่นอนมารองรับ
จุดกำเนิดการระทุน ICO
กลุ่มสตาร์ทอัพนำมาใช้
การระดมทุน ICO เกิดขึ้นครั้งแรกโดย Mastercoin ในปี 2013 และในปีต่อมา Ethereum ก็ระดมทุน ICO เช่นกัน การระดมทุน ICO ค่อนข้างได้รับความนิยมในหมู่สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งการขายเงินดิจิทัลแบบนี้ ดูเหมือนจะสร้างกำไรได้ดีกว่าและเร็วกว่า การระดมทุนด้วยหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยซ้ำไป
เนื่องจากการใช้เหรียญ cryptocurrency ที่มีความรวดเร็วในการโอน ใครจะซื้อก็สามารถซื้อได้ แค่เข้าไปในเว็บซื้อขายและโอนเหรียญ Ethereum ของผู้ลงทุนเข้าไป แค่นี้ก็ได้เหรียญ ICO ของบริษัทนั้น ๆ มาแล้ว โดยที่ไม่ต้องมีการลงทะเบียนหรือเซ็นสัญญาอะไรให้ยุ่งยาก ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระดับที่รวดเร็วมาก ดั่งเช่นตัวอย่างของเหรียญ BAT ก่อนหน้านี้ที่ขายเหรียญ ICO ของพวกเขาหมดภายในระยะเวลา 30 - 40 วินาที และระดมทุนไปได้กว่า 35 ล้านดอลลาร์
“วิธีการระดมทุนในลักษณะนี้ จะทำให้ผู้ลงทุนเห็นโอกาสในวิธีทำกำไรอย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลของสภาพคล่อง โดยปกติการระดมทุนแบบดั้งเดิม ผู้ลงทุนจะต้องเดิมพันกับบริษัทนั้น ๆ ไปจนกว่าบริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือถูกขาย แต่ด้วยวิธีนี้ผู้ลงทุนจะสามารถขายเหรียญที่ได้เมื่อไหร่ก็ได้ที่พวกเขาต้องการ โดยเปลี่ยนเป็น BITCOIN, ETHEREUM หรือเงินสกุลอื่น ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอเหมือนวิธีดั้งเดิม”
ICO ยังสร้างโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ open source project (โปรแกรมที่อนุญาตให้ดัดแปลง source code ได้) ตอนนี้มีนักพัฒนามากมายที่กำลังพัฒนาโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ของพวกเขา ซึ่งการใช้โค้ด open source นี้ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วยิ่งถ้ามีโปรเจ็กต์ที่สำเร็จมากเท่าไหร่ ก็จะมีผู้สนใจในตลาดนี้มากขึ้น และ ทำให้ผู้ร่วมลงทุนได้ประโยชน์มากขึ้น ตอนนี้โปรเจ็กต์สำเร็จที่ใช้วิธีระดมทุนโดย ICO นั้นมีให้เห็นอย่างชันเจนอย่าง Ether ซึ่งมูลค่าทางการตลาดของ Ether ได้เพิ่มขึ้นถึง 500% จากมูลค่าของมันในต้นปี แต่กระนั้นทุก ๆ อย่างก็ไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว
แม้ว่าทาง SEC จะออกมาควบคุมการลงทุนแบบดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจเนื่องจากมองว่า การออกกฎหมายมาควบคุมจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่สูญเสียความเป็นอิสระไป ในขณะที่บางกลุ่มก็บอกว่านั่นเป็นเรื่องดี เพราะภายหลังจากที่ ICO เกิดความบูมขึ้นมานั้น ก็ทำให้มีธุรกิจประเภทหลอกลวง นำเอาชื่อ ICO มาแอบอ้าง และหลอกเอาเงินจากนักลงทุนไป ซึ่งการทำให้ถูกกฎหมายนั้น จะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาในช่องโหว่ตรงนี้ได้
จีนโดดขวางลงทุนแบบ ICO
เหตุกระทบการลงทุนดั้งเดิม
ก่อนหน้านี้ Security Exchange Commission (SEC) แห่งสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศให้เหรียญที่ถูกวางขายใน ICO (DAO Tokens) นั้นตกอยู่ภายใต้กฎหมายการแลกเปลี่ยนแล้ว รวมถึงธนาคารกลางแห่งประเทศสิงคโปร์ ก็ได้ออกมากล่าวในลักษณะเดียวกัน
มีรายงานว่า บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ได้รับโทรศัพท์จาก SEC ให้ทำการยกเลิกการขาย ICO เสีย และคืนเงินที่ระดมทุนมาได้ให้กับนักลงทุนทั้งหมด มิเช่นนั้น จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้พวกเขาต้องยอมปฏิบัติตาม
ส่วนประเทศจีน ถือเป็นประเทศแลกของโลกที่ออกมาแบน ICO เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2017 โดยให้เหตุผลว่าการซื้อขาย ICO นั้นละเมิดกฎหมายด้านการระดมทุนของประเทศจีน อีกทั้งยังสั่งให้บริษัทที่ระดมทุนผ่าน ICO มาก่อนหน้านี้คืนเงินให้กับนักลงทุนให้ครบอีกด้วย โดยคืนเป็น Bitcoin และ Ethereum ส่งกลับไปยัง address ที่เคยส่งมา
ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานประเทศเกาหลีใต้ ก็ออกมาเดินรอยตามประเทศจีน โดยสั่งห้ามไม่ให้บริษัทสตาร์ทอัพในประเทศทำการระดมทุนด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ แบน ICO เหมือนประเทศจีนนั่นเอง
“ในขณะเดียวกัน ประเทศออสเตรเลีย ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจการตัดสินใจของจีนนัก แต่กลับสนับสนุนการระดมทุนแบบ ICO โดยไม่นานมานี้ทางรัฐบาลออสเตรเลียได้ออกแนวทางเกี่ยวกับข้อกฎหมายในด้านการระดมทุนแบบดังกล่าว สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศที่ต้องการจะออกเหรียญเป็นของตัวเอง และยังมองว่ามันมีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย”
ตะลึงลงทุนผ่านระบบ ICO
มูลค่าตลาดรวมพุ่งกระฉูด
นักวิเคราะห์ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากความสำเร็จในการระดมทุน ICO ของบริษัทสตาร์ทอัพหลาย ๆ บริษัทที่เริ่มจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้มีบริษัทหลาย ๆ บริษัทอยากจะกระโดดเข้ามาในตลาดที่กำลังไหลเชี่ยวอย่างรวดเร็วนี้ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ Stox ที่ได้มีการนำเอานักมวยชื่อดังอย่าง Floyd Mayweather มาช่วยโปรโมทการซื้อขาย ICO ก่อนที่จะระดมทุนไปได้ถึง 30 ล้านดอลลาร์ภายในระวะเวลาชั่วข้ามคืนอีกด้วย
ข้อมูลจาก CoinDesk ได้เผยให้เห็นว่า มูลค่าตลาดรวมของการลงทุนแบบ ICO ณ เวลาที่กำลังอัพเดตข้อมูลอยู่นี้ พุ่งไปแล้วกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเดือนที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด ก็คือ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดรวมภายในเดือนเดียวอยู่ที่ 540 ล้านดอลลาร์
อีกทั้งยังมีการนำมาเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบใช้ Venture Capitalist (VC) ในวงการบริษัทสตาร์ทอัพ Blockchain ที่มีอัตราเติบโตที่ถดถอย เนื่องมาจากการกระแสของ ICO โดยหลังจากไปแตะจุดสูงสุดที่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ตัวเลข 107 ล้านดอลลาร์ที่มีการลงทุนในกลุ่มธนาคาร R3 นั้น การระดมทุนในบริษัทด้าน Blockchain แบบเก่านั้นมีตัวเลขทั้งหมดแค่ 6.12 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเท่านั้น
การลงทุนแบบ ICO
กับความเสี่ยงที่มี
นักวิเคราะห์กล่าวอีกว่า ICO ที่เปิดระดมทุนในสหรัฐฯ นั้น จะต้องขึ้นทะเบียนกับทาง SEC ให้ถูกกฎหมายเสียก่อนถึงจะมาเปิดได้ แต่ด้วยธรรมชาติของเหรียญ cryptocurrency ที่สามารถโอนส่งหากันทั่วโลกได้ในระดับวินาที อีกทั้งยังมีความเป็นส่วนตัวสูงไม่สามารถทราบชื่อผู้โอนผู้รับนั้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ หรือว่าใครก็ตามที่ต้องการจะซื้อ ICO นั้นสามารถทำได้ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก ซึ่งแน่นอน ความเสี่ยงในเรื่องแบบนี้ก็ต้องตามมา
โดยส่วนใหญ่นั้นความเสี่ยงจะตกอยู่กับบริษัท สตาร์ทอัพผู้ที่เสนอขายเหรียญ ICO มากกว่า เนื่องด้วยการที่พวกเขาต้องสร้างระบบแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายเหรียญมาในรูปแบบเว็บไซต์ การแฮกเว็บไซต์นั้น จึงถือเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการแฮกเว็บกระเป๋าเก็บเหรียญ Ethereum นามว่า Parity ที่ทำให้บริษัทผู้ลงทุนที่เก็บเหรียญ Ethereum ของพวกเขาไว้บนกระเป๋าแบบ multi-sig ของผู้ให้บริการดังกล่าวถูกขโมยไปด้วย โดยหนึ่งในนั้นก็มีบริษัท Swam City ที่ถูกขโมยเหรียญ Ethereum ไปกว่า 44,000 ETH และภายหลังจากนั้นก็มีบริษัท Veritaseum ที่ถูกขโมยเหรียญ VERI หรือเหรียญ ICO ของพวกเขาเอง โดยสูญเสียไปกว่า 8 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะมีบางคนออกมาบอกว่า การขโมยนั้นเกิดขึ้นในบริษัทของพวกเขาเองก็ตาม
“ที่รุนแรงที่สุดเห็นจะเป็นของ CoinDash ที่ถูกแฮกเว็บไซต์ในวันที่เปิดขาย ICO วันแรกเลยทีเดียว โดยการแฮกนั้นเป็นการฟิชชิ่ง address ของกระเป๋า Ethereum ของทางบริษัท โดยแอบเปลี่ยนจุดหมายปลายทางของผู้รับจากบริษัทให้กลายเป็นของแฮกเกอร์ ทำให้นักลงทุนที่อยากจะซื้อเหรียญนี้ กลายเป็นส่ง ETH ของพวกเขาไปให้แฮกเกอร์แทน โดยภายหลังทาง Coindash ต้องเสียหายไปกว่า 7 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว”
สำหรับทางมาตรการป้องกันของผู้ใช้งานนั้น ทางที่ดีผู้ลงทุนควรที่จะทำการศึกษาที่มาของบริษัท ICO ที่จะลงทุน ว่ามีการจดทะเบียนกับประเทศที่มาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ (โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา) และควรที่จะเก็บเหรียญ Ether ของคุณไว้บนกระเป๋าของตัวเองให้ปลอดภัย ไม่ควรจะโอนไปเก็บไว้บนเว็บเทรด หรือเว็บผู้ให้บริการกระเป๋าแบบออนไลน์ทีละมาก ๆ
จับตา ICO ในไทย
จุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ
สำหรับในประเทศไทยนั้น การลงทุนแบบ ICO อาจจะกล่าวได้ว่า ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ทว่า ก็มีบริษัทที่มีรากฐานในไทยอย่าง Omise หรือหนึ่งในผู้ให้บริการด้าน payment gateway ที่ก่อนหน้านี้เคยซื้อธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง Paysbuy มาแล้ว เป็นผู้ออกเหรียญ OmiseGo (OMG) และเปิดขาย ICO ก่อนที่จะระดมทุนไปได้ถึง 25 ล้านดอลลาร์
โดยเหรียญดังกล่าวในปัจจุบันนั้น ยังเป็นที่นิยมพอสมควรอีกด้วย ซึ่งราคาของมันนั้นได้พุ่งขึ้นมาอย่างรุนแรงมาที่ 12 ดอลลาร์ และมีมูลค่าตลาดรวมที่พุ่งขึ้นมาถึง 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ นั้นมาจากข่าวลือที่ว่าทางบริษัท Omise นั้นกำลังเตรียมเป็นหุ้นส่วนกับ McDonald’s ในการทำ payment gateway จ่ายซื้ออาหารได้ด้วยเหรียญ OMG
ซึ่งข่าวลือดังกล่าวนั้น ภายหลังทาง Omise ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการ ถึงการร่วมงานกันอย่างเป็นทางการแล้ว
ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีท่าทีที่อ่อนข้อลงให้กับวงการ Fintech มากขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมากล่าวว่า ทางแบงก์ชาติกำลังเตรียมเล็งเสนอเปลี่ยนกฎหมายทางด้าน Fintech เพื่อให้การอนุมัติเอกสารถูกทำบนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อมาแทนที่ระบบกระดาษ อีกทั้งยังบอกว่าจะศึกษา Bitcoin อีกทั้งยังมีการประกาศเปิด Regulartory Sandbox เพื่อเอาเทคโนโลยี Blockchain มาทดสอบอีกด้วย
และที่น่าสนใจที่สุด ก็คือ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ก่อนหน้านี้เคยออกมาประกาศแสดงความเห็นเกี่ยวกับการระดมทุนแบบ ICO ที่ค่อนข้างเป็นบวก โดยบอกว่าการวิธีการดังกล่าวนั้นช่วยตอบโจทย์ด้านการระดมทุนให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ แม้ว่าจะออกมาเตือนว่า ICO บางตัวนั้น อาจจะเข้าข่ายกฎหมายหลักทรัพย์ (securities) และความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องของการฉ้อโกงก็ตาม
ซึ่งนั่นหมายความว่า นักลงทุนในไทยสามารถที่จะซื้อขายเหรียญ ICO ได้ตามปกติ ในขณะเดียวกันบริษัท สตาร์ทอัพในไทยที่ต้องการจะระดมทุนด้วยวิธีดังกล่าว จะต้องทำให้แน่ใจว่าเหรียญที่ออกมานั้นไม่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายสินทรัพย์ ซึ่งทางที่ดีควรจะต้องมีการปรึกษาทาง ก.ล.ต.ก่อน เพื่อความแน่ใจ
ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยของเรานั้นอาจจะกำลังค่อย ๆ เปิดอ้าแขนให้กับ ICO อย่างช้า ๆ และอีกไม่นานนี้ เราอาจจะได้เห็นบริษัทอีกหลาย ๆ บริษัทในไทยออกมาเปิดระดมทุน ICO เพิ่มขึ้นก็ได้
Qodaq Pacific เตรียมลุย
จัดทัพพันธมิตรระดม ICO
รายงานข่าวจาก บริษัท คอแด็ก แปซิฟิก จำกัด แจ้งมาว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้ระดมกลุ่มพันธมิตรเข้าร่วมกับแผนธุรกิจของบริษัท อาทิ กลุ่มธุรกิจสื่อ กลุ่มสวนทุเรียน กลุ่มสินค้าอุปโภค - บริโภค กลุ่มเหมืองแร่เหล็กขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท และอื่น ๆ ที่จะดึงเข้ามาเป็นแนวร่วมในอนาคต บริษัทฯ เน้นแพลตฟอร์ม และคอนเทนท์ที่จับต้องได้ เพื่อสร้างความยอมรับตั้งแต่จุดเริ่มต้น สำหรับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในอีกไม่นานนี้
“บริษัทฯ กำลังจัดทำแพลตฟอร์ม เขียนระบบรองรับ ปัจจุบันลงทุนไปแล้วเกือบ 20 ล้านบาท เราให้ความสำคัญกับระบบป้องกันการแฮกเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าหลังเปิดตัวออกไปจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างประเทศเป็นอย่างมาก เพราะกระแสการลงทุนของโลกยุคใหม่ จะมาในรูปแบบ ICO ถือว่าเข้ามามีบทบาทต่อแวดวงการลงทุนเป็นอย่างมาก จุดสำคัญโมเดลธุรกิจที่เราได้วางไว้มีความชัดเจน จับต้องได้ทุกธุรกิจ เป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักในการลงทุนแบบ ICO บริษัทฯ วางไว้ที่ลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก โดยโฟกัสไปที่กลุ่มนักลงทุนจีน ส่วนลูกค้าคนไทยเบื้องต้นก็คงออกมาในรูปแบบระบบแฟรนไชส์ โดยมีกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภค - บริโภค เครื่องดื่ม เป็นจุดขาย ด้วยการดึงกลุ่มร้านค้าตามตำบลหมู่บ้านมาเป็นแนวร่วม ทั้งนี้ อาจเสริมความแข็งแกร่งด้วยการดึงสื่อวิทยุทั่วประเทศเข้าร่วมด้วย ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม สำหรับการเปิดตัว Pre-ICO ซึ่งจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้”
รัสเซียจ่อสร้าง Bitcoin
ระดม 100 ล้านดอลลาร์
รายข่าวแจ้งว่า เมื่อไม่นานมานี้ ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกอย่าง Vladimir Putin กำลังพยายามที่จะระดมทุนผ่าน ICO (Initial Coin Offering) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 100 ล้านดอลลาร์
โดยความพยายามในการระดมทุน เพื่อเปิดบริษัท “การขุด Bitcoin สัญชาติรัสเซีย” นั้นได้ถูกเผยให้เห็นโดยนาย Dmitry Marinichev หรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีปูติน
โดยอ้างอิงจากสไลด์พรีเซ็นต์ที่ทำออกมาควบคู่กับการเปิดตัวนั้น ทางทีมของพวกเขามีความพยายามที่จะทำฟาร์มขุด Bitcoin ที่มีกำลังไฟ 20 เมกกะวัตถ์ และใช้ชิพการขุดที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ การขุด Bitcoin คือ การใช้พลังงานไฟฟ้าและเครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมเข้ากับอินเตอร์เน็ต เพื่อช่วยประมวลผลธุรกรรมของ Bitcoin เข้าไปใน Blockchain ของมัน และเพื่อสร้างเหรียญใหม่ขึ้นมาทีละ 12.5 BTC เฉลี่ยในทุก ๆ 10 นาที ซึ่งมีราคาประมาณ 42,000 ดอลลาร์ในปัจจุบัน เพื่อเป็นรางวัลให้กับนักขุด
โครงการเบื้องหลัง ICO ตัวนี้ ถือเป็นโปรเจ็กต์ร่วมระหว่าง Party for Growth หรือหุ้นส่วนที่เป็นพรรคการเมืองในรัสเซีย และนักพัฒนา Blockchain ของ Waves ซึ่งการเริ่มพัฒนาของพวกเขามีขึ้นครั้งแรกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
อ้างอิงจากบล็อกล่าสุดนั้น นาย Boris Titov หรือมหาเศรษฐีพันล้านสัญชาติรัสเซีย และหัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าวได้ออกมาพูดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ระบบดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยสกรีนโปรเจ็กต์อื่น ๆ ที่อยากจะเปิดตัว ICO เขาได้กล่าวผู้เข้าร่วมงานว่า
“ด้วยระบบเฟรมเวิร์คของตัวสร้าง ICO นี้ เราจะทำการเลือกโปรเจ็กต์แรก ๆ จากความสามารถทางด้านกฎหมาย และความรู้ด้านการเงิน และหลังจากนั้นนักลงทุนของ ICO ก็จะได้รู้ว่าบริษัทเหล่านี้ มีพวกเราเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่ไอ้ขี้กากที่ไหนก็ไม่รู้”
สำนักข่าว Bloomberg ที่ได้เข้าไปทำข่าวดังกล่าวนั้น ได้รายงานว่า นาย Marinichev ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยความทะเยอทะยานเกี่ยวกับนักลงทุนที่สนใจทางด้านการขุดว่า “ประเทศรัสเซียมีศักยภาพที่จะแย่งส่วนแบ่งการตลาดด้านการขุดเหรียญคริปโตถึง 30% ในอนาคต”
สำหรับในประเทศไทยนั้น ได้มีงานทอล์คโชว์เกี่ยวกับการลงทุน ICO ที่จัดขึ้น โดยสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ ที่มีการเชิญบุคคลรัฐบาลจาก ก.ล.ต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมพูดคุย โดยหนึ่งในการพูดคุยนั้น ทางตัวแทนจาก ก.ล.ต. ได้มีความเห็นที่น่าสนใจมาก ๆ เกี่ยวกับโอกาสการลงทุน ICO ในประเทศไทย กล่าวว่า
“ยังไงเทรนด์นี้ มันมาแน่ ๆ ค่ะ แล้วก็ถ้าทำให้มันเกิดได้จริง ๆ มันก็เป็นประโยชน์ แล้วก็ถ้าแบบมี INNOVATOIN ที่มัน WORK กับตลาดทุนไทย แล้วเราจะแบบไม่ทำให้เกิด มันก็น่าเสียดายว่า เค้าไปโตที่อื่นที่ทำได้”