|
เผยประชากรโลกมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเกือบ 1 พันล้านคน
|
|
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA: OSA) มีการกล่าวถึงกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากพบสถิติตัวเลขอุบัติการณ์ที่เป็นกันมากขึ้น คือ มีตัวเลขประชากรเกือบ 20 % ที่อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนี้ รวมทั้งข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า ประชากรทั้งโลกป่วยเป็นภาวะนี้ประมาณ 1 พันล้านคน หรือประมาณ14 % ของประชากรทั้งโลก ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่เป็นมากขึ้นในปัจจุบันทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดประชุมกันต่อเนื่องทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษา และเสริมสร้างความรู้ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
|
|
|
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนฤชา จิรกาลวสาน อายุรแพทย์ด้านระบบการใจและเวชบำบัดวิกฤตและด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ ซึ่งขณะนี้เป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน Pre-congress Workshop ในงานประชุมประจำปีของสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย ปี 2563 ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงพยาบาลศิริราช ว่า สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA: OSA) ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากภาวะช่องคอแคบ ทำให้เวลานอนมีเสียงกรน บางคนมองเป็นเรื่องธรรมดา โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวและอาจเกิดการหยุดหายใจได้ในขณะนอนหลับ บางคนมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ บางคนมีอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน มีอาการมึนศรีษะในตอนเช้า ไม่สดชื่น และมีง่วงนอนตลอดเวลา หากปล่อยทิ้งไว้จะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเพราะอาจจะเพิ่มโอกาสในการโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดสมอง และโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
|
|
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA: OSA) เป็นหนึ่งในโรคความผิดปกติจากการนอนหลับที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยซึ่งได้มีการประชุมกันต่อเนื่องทุกปีเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไข้เพื่อทำการรักษา และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวขัองกับโรคนี้ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวิทยาการใหม่ ๆ ในการที่จะรักษาผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่พัฒนาเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ CPAP ที่ทันสมัยสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายจากอาการหยุดหายใจขณะหลับได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
|
|
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทำการรักษาต้องวินิจฉัยตามลักษณะอาการของคนไข้ก่อน เพราะแต่ละคนอาจมีโรคความผิดปกติจากการนอนหลับที่ไม่เหมือนกัน โดยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มี “ศูนย์นิทราเวช” ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคความผิดปกติจากการนอนหลับ รวมทั้งการตรวจการนอนหลับที่ทันสมัย เพื่อทำการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพื่อที่นำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
|
|
|
|
|