ต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการทำลายของขั้วประสาทตา ทำให้สูญเสียลานสายตา และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด โดยการสูญเสียนี้เป็นการสูญเสียที่ถาวร
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่สำคัญ ได้แก่ ประวัติในครอบครัว ใครที่มี พ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายเป็นต้อหิน ก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากต้อหินเป็นโรคทางพันธุกรรม ความดันลูกตาสูงเกินปกติ ความดันตาในคนปกติจะอยู่ที่ 10-20 มิลลิเมตรปรอท หากสูงเกิน 21 ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นต้อหินได้ สายตาสั้นหรือยาวมากเกินไป หากสายตาสั้นเกิน 600 ขึ้นไปเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมุมเปิด หากสายตายาวมากเกิน 300 ขึ้นไป จะเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมุมปิด โรคระบบการไหลเวียน และหลอดเลือด เช่น โรคไขมันสูง ความดันสูง และโรคเบาหวาน ทำให้หลอดเลือดผิดปกติ เลือดไปเลี้ยงจอประสาทตาลดลง จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน
อาการของโรคต้อหิน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือต้อหินชนิดเฉียบพลัน มักพบในคนต้อหินมุมปิด คนไข้จะมีอาการรุนแรง ปวดตาทันที ตาแดง และตามัวลงอย่างรวดเร็ว อีกชนิดหนึ่งคือต้อหินเรื้อรัง จะไม่มีอาการอะไรเลยในระยะแรก อาการลานสาตาที่แคบลงจะเป็นไปอย่างช้าๆ คล้ายเป็นระเบิดเวลา ถ้ารอให้มีอาการมาก จนลานสายตาแคบลงมาก แสดงว่ามีการสูญเสียลานสายตามากกว่า 50% ขึ้นไป
การรักษาโรคต้อหินมี 3 วิธี คือ ใช้ยาหยอดตา ใช้เลเซอร์ และการผ่าตัด ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะเริ่มจากการใช้ยาและใช้เลเซอร์ก่อน ถ้าไม่ได้ผล ควบคุมโรคไม่ได้จึงจะทำการผ่าตัด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้มักได้ผลดีและช่วยป้องกันคนไข้ต้อหินไม่ให้ตาบอดได้ในอนาคต
ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโรคต้อหินปีละครั้ง หากเป็นผู้ที่มีความปัจจัยเสี่ยงข้างต้นมากกว่า 1 ข้อ อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโรคต้อหินปีละครั้ง และเมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคต้อหิน ให้รีบรักษา ถ้าแพทย์ให้การรักษาโดยการหยอดตา ควรหยอดตาให้ถูกต้อง สม่ำเสมอ และมาตรวจตามที่แพทย์นัดหมาย เพราะโรคต้อหินเรื้อรังไม่แสดงอาการในระยะแรก คนไข้อาจรู้สึกว่าหยอดยาหรือไม่หยอดยาก็ไม่มีอาการ แต่จริง ๆแล้วขั้วประสาทตาจะถูกทำลายไปอย่างช้าๆ หากไม่รักษาอย่างต่อเนื่อง อาจสูญเสียการมองเห็น และเป็นการสูญเสียที่ถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติดังเดิมได้
|