นับเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษแล้วที่ งาน Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย ภายใต้ความร่วมมือของ 11 องค์กรพันธมิตรระดับประเทศได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.), สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA), หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในแต่ละปีจะได้เห็นศักยภาพของ SMEs และสตาร์ทอัพไทย ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ผ่านผลงานนวัตกรรมที่ส่งเข้าประกวดชิงรางวัลสุดยอดนวัตกรรม “7 Innovation Awards 2023” (เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์) โดยในปีนี้มีผลงานเข้าร่วมชิงชัย 182 ผลงาน และมีผลงานที่ผ่านการตัดสินให้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 33 รางวัล แบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ครอบคลุมด้านผลิตภัณฑ์ ด้านบริการ หรือด้านกระบวนการ จำนวน 19 รางวัล และรางวัลนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา รวมถึงโครงการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) จำนวน 14 รางวัล
สำหรับผลงานที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทเศรษฐกิจได้แก่ ผลงาน “นิ่มนิ่ม” เส้นไข่ขาวพร้อมทาน โดย บริษัท แข็งแรงทุกวัน จำกัด และผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสังคม ได้แก่ “Vulcan” แพลตฟอร์มยกระดับอาชีพผู้พิการเป็นผู้ฝึกสอน AI โดย บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด 2 กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มดำเนินธุรกิจได้เพียง 3 ปี แต่สามารถนำนวัตกรรมมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างน่าชื่นชม
เส้นไข่ขาวพร้อมทาน นวัตกรรมโดยคนไทยรายแรกของโลก
จากปัญหาของผู้ป่วยที่ต้องบริโภคไข่ขาวให้ได้ปริมาณที่กำหนด ผนวกรวมกับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพที่มาแรงทั่วโลก ส่งผลให้ “นิ่มนิ่ม เส้นไข่ขาวพร้อมทาน” เป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มผู้ป่วยตลอดจนกลุ่มคนรักสุขภาพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว สร้างยอดขายได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแปรรูปไข่ขาวได้ถึง 10 เท่า
โดยมี เกรท-อุมาพร บูรณสุขสมบัติ และ ฟิ้ง-ปณัสสา กาญจนวิเศษ กรรมการบริษัท แข็งแรงทุกวัน จำกัด เจ้าของนวัตกรรม “นิ่มนิ่ม เส้นไข่ขาวพร้อมทาน” ร่วมให้ข้อมูลว่า เส้นไข่ขาวนิ่มนิ่มได้รับแรงบันดาลใจมาจากผู้ที่มีความจำเป็นต้องทานไข่ขาวในปริมาณมาก เช่น ผู้ป่วยโรคไตหรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องบริโภคไข่ขาวประมาณ 10-20 ฟองต่อวัน แต่ไม่สามารถทานได้ตามปริมาณ เนื่องจากกลิ่นที่ค่อนข้างรุนแรง และรูปแบบที่อาจทำให้น่าเบื่อ
จากปัญหาดังกล่าวทางผู้บริหารจึงคิดว่า หากสามารถพัฒนาอาหารขึ้นมาสักอย่าง ที่สามารถสร้างความสุขให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ ในรูปแบบที่คุ้นเคย หาทานได้ง่ายในชีวิตประจำวันอย่างประเภท เส้นหรือข้าว ก็น่าจะทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ทานได้ง่ายขึ้น โดยสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ แทนเส้นก๋วยเตี๋ยว แทนเส้นขนมจีน
“สินค้าโปรตีนที่มีจำหน่ายในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นโปรตีนที่ได้มาจากผลิตผลทางการเกษตรเช่น ถั่ว ข้าว หากเป็นสินค้าที่ผลิตจากไข่ขาว ก็จะอยู่ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เส้น แต่สำหรับ นิ่มนิ่ม เป็นผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นโดยใช้เทคนิคการแลกเปลี่ยนอิออนของสารสกัดสาหร่ายสีน้ำตาล ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเส้นไข่ขาว กับอิออนในน้ำเกลือที่ใช้แช่เส้น บวกกับธรรมชาติของไข่ขาวที่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง จึงทำให้เส้นแข็งตัวได้และมีเนื้อสัมผัสที่เหนียวนุ่มไม่เหมือนใคร ไม่มีส่วนผสมของแป้งและไขมัน ให้พลังงานต่ำ มีกรดอะมิโนครบถ้วน มีโปรตีนสูงเทียบเท่าไข่ขาว 3 ฟองต่อน้ำหนักเส้น 100 กรัม สามารถเก็บได้นาน 1 ปี นิ่มนิ่ม จึงถือเป็นเส้นไข่ขาวพร้อมทาน แบบไร้แป้ง ไร้ไขมัน ที่บริษัทเป็นผู้คิดค้นและผลิตเป็นรายแรกของโลก”
ปัจจุบันบริษัทได้มีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีสินค้าทั้งหมด 10 SKU อาทิ เส้นหมี่ เส้นสปาเก็ตตี้ ข้าว และไม่จำกัดเฉพาะแต่กลุ่มผู้ป่วยเท่านั้น แต่ขยายสู่กลุ่มคนรักสุขภาพ มีช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตลาดต่างประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสรักสุขภาพ โดยเฉพาะแถบเอเชียที่คุ้นชินกับการทานอาหารประเภทเส้น ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกปี 2566บริษัทมียอดขายแล้วกว่า 20 ล้านบาท
สร้างนวัตกรรมยกระดับผู้พิการสู่ AI Trainer
ต้องยอมรับว่า “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า AI ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าส่วนหนึ่งของเบื้องหลังความฉลาดของระบบ AI มาจาก “ผู้พิการ” ผ่าน “Vulcan” แพลตฟอร์มยกระดับผู้พิการสู่ AI Trainer ที่คิดค้นโดยบริษัทกลุ่มคนรุ่นใหม่สัญชาติไทยอย่าง บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด (Vulcan Coalition) เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมามีการจ้างงานผู้พิการเพียง 50 คน ปัจจุบันก่อให้เกิดการจ้างงานผู้พิการทุกประเภททั่วประเทศกว่า 500 คน สร้างรายได้ให้กับผู้พิการทั่วประเทศประมาณกว่าปีละ 60 ล้านบาท
จูน-เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ Chief Executive Officer (CEO) และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด กล่าวถึงที่มาของ “Vulcan” ว่า ข้อมูลถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบ AI ให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากติดปัญหาด้านการมีข้อมูลที่มีคุณภาพไม่เพียงพอในการใช้พัฒนา AI โมเดลภาษาไทย ในขณะที่ผู้พิการเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งบุคลากรสำคัญของประเทศที่มีศักยภาพ แต่ขาดโอกาสในการแสดงศักยภาพเหล่านั้นออกมา ทางบริษัทมองเห็นช่องว่างดังกล่าว จึงคิดค้น Vulcan แพลตฟอร์มให้บริการจัดทำข้อมูลสำหรับป้อน AI ที่เปิดโอกาสให้คนพิการได้ใช้ทักษะและความสามารถพิเศษในการทำหน้าที่เป็น AI Trainer ช่วยจัดเตรียมข้อมูลในการพัฒนา AI ให้มีความคิดและเข้าใจภาษามนุษย์
“ผู้พิการแต่ละประเภทมีความสามารถและศักยภาพที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง เช่น ผู้พิการทางสายตาสามารถรับฟังเสียงได้เร็วกว่าคนปกติ 2-3 เท่า ด้วยความเร็วดังกล่าว ผู้พิการสามารถพิมพ์ข้อความตามเสียงที่ได้ยิน พร้อมแบ่งแยกเพศ โดยบริษัทมีทีม AI Scientist ที่ทำ AI model เหมือนทำสมองของ AI ส่วนที่คนพิการทำคือ ชุดข้อมูลเพื่อใช้สอน AI แฟลตฟอร์มตัวนี้ Output คือชุดข้อมูลที่เป็นก้อนจับคู่กัน จากนั้น AI Scientist จะนำข้อมูลตัวนี้ไปใส่ในสมองของ Al เพื่อให้ประมวลผล และนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป”
สำหรับงาน “Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย” และการประกาศผลรางวัล “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards” เป็นความร่วมมือของ 11 องค์กรเครือข่ายนวัตกรรมภาครัฐ-เอกชนระดับประเทศ ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.), สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA), หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อเฟ้นหาสินค้านวัตกรรมจาก SMEs และบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาและต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจนได้รับการยอมรับในระดับประเทศหรือในระดับโลก และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ทดสอบศักยภาพของตนเองในการยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในระดับประเทศ |