การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ทั้งด้านสภาพภูมิอากาศ วิกฤตการณ์น้ำ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมืออย่างรวดเร็ว
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ในฐานะหน่วยงานคลังสมอง (Think Tanks) ด้านสิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคมากว่า 3 ทศวรรษ ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดงาน “30 ปี TEI ก้าวไปกับภาคี สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” เปิดเวทีเสวนา “เอลนีโญ ร้อน แห้ง แล้งหนัก” ภายใต้หัวข้อ สานพลังสังคม จัดการฐานทรัพยากร สู่ความยั่งยืน เพื่อสะท้อนข้อมูลวิชาการ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากวิทยากรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติจากกรณีตัวอย่างขององค์กรภาคีความร่วมมือของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมเสริมสร้างความตระหนัก การรับรู้ ตั้งรับ และปรับตัวให้เท่าทันวิกฤตความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดภัยแล้งในอนาคต
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร กล่าวในช่วงเริ่มต้นการเสวนาว่า เอลนีโญมีโอกาสเกิดขึ้นสูง 100% และจะยกระดับสูงขึ้น สวนทางกับปริมาณน้ำ ปริมาณฝนจะน้อยลงกว่าปกติและลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมแผลงฤทธิ์ในระดับที่รุนแรง จะส่งผลกระทบให้เกิดภัยแล้งไปจนถึงปี 2567 และอาจจะลากยาวไปอีก
“ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว และเตรียมรับมือกับเอลนีโญในระดับรุนแรงด้วยความไม่ประมาท หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชนในทุกสาขาอาชีพ สู่การวางแผนป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ด้วยการกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ให้ได้มากที่สุดทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน ดำเนินการขุดลอกคูคลองและสระสาธารณะที่ตื้นเขิน วางแผนขุดบ่อและสระเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรต้องเลือกปลูกพืชที่สามารถทนร้อน ทนแล้งได้ดี มีการเตรียมน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก ต้องระวังโรคในพืชและปศุสัตว์ ผลผลิตเสียหายจากแมลงที่คาดว่าจะมากกว่าปกติ เพราะอากาศที่ร้อนอาจทำให้พืชและสัตว์อ่อนแอ และต้องไม่ลืมที่จะดูแลสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
ทางด้าน นายเทพ เพียมะลัง ประธานมูลนิธิรักษ์ป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมจุดประกายไอเดีย สร้างพลังในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยแล้งผ่านกรณีตัวอย่างการจัดการระบบนิเวศเกษตร ร่วมคืนผืนป่าให้ภูเขาหัวโล้นเป็นเขากระจุก ภายใต้แนวคิดโคกหนองนาโมเดล
“มูลนิธิรักษ์ป่าสัก มุ่งมั่นสืบสานงานเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อฟื้นฟูป่าเขาหัวโล้น แก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม โดยใช้หลักการจัดการน้ำบนที่สูง เปลี่ยนสภาพภูเขาหัวโล้นให้เป็นเขากระจุก ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดโคกหนองนาโมเดลตามหลักภูมินิเวศและสังคมของพื้นที่ภูเขาสูง และการจัดการ ‘ดิน น้ำ ป่า’ สร้างพื้นที่รับน้ำให้กระจายตัว เพื่อกักเก็บน้ำฝน น้ำหลาก แบบหลุมขนมครกให้ทั่วลุ่มน้ำป่าสัก สร้างฝายชะลอน้ำ ขุดคลองไส้ไก่ รองรับการอุปโภคบริโภค ตลอดจนใช้เพื่อการเกษตรในหน้าแล้ง ควบคู่ไปกับการปลูกหญ้าแฝกและปลูกป่า เพิ่มระบบนิเวศในพื้นที่ให้หลากหลาย และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตครับ” นายเทพ กล่าว
ในส่วนของ นายวิชิต ยะลา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการท่องเที่ยว ในบริบทของเกาะลันตา ด้วยการบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนสู่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“เพราะการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ต้องควบคู่ไปกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ภาคีความร่วมมือเกาะลันตาจึงได้ริเริ่มปฏิบัติและขับเคลื่อนเชื่อมโยงการทำงานทุกระบบเข้าด้วยกัน ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การบริโภค และการบริการ ภายใต้แนวคิด BCG Model ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพแหล่งท่องเที่ยว มีการรวบรวมข้อมูล วางแผน และส่งต่อการจัดการร่วมกับภาคเอกชน จับคู่โรงแรม ที่พัก กับเกษตรกรจัดการและใช้ประโยชน์จากเศษอาหาร เปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นศูนย์ พร้อมส่งต่อไปใช้ประโยชน์ในภาคปศุสัตว์ ใช้ประโยชน์จากปุ๋ยที่ผลิตเอง รวบรวมพลาสติกและวัสดุรีไซเคิลให้กับโรงเรียน และชมรมลันตารีไซเคิล ร่วมกันเก็บขยะในอ่าวและชายหาดให้สะอาด สวยงาม ตลอดจนยกระดับมาตรฐานโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hotel เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”
ทางด้าน นายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในภาคีความร่วมมือ ได้ร่วมถอดรหัสความสำเร็จ แลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้การจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติในกรณีตัวอย่าง การจัดการลุ่มน้ำ ในพื้นที่เมืองทุ่งสง ด้วยการขับเคลื่อนจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และระบบนิเวศเมือง สู่โมเดลการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ
“ทุ่งสงมีบทเรียนอุทกกภัยและภัยพิบัติจากน้ำท่วมนับครั้งไม่ถ้วน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม และวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนมหาศาล สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเราชาวทุ่งสงมุ่งทำงานเชิงรุกเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และระบบนิเวศของเมือง โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม สร้างเครือข่ายอนุรักษ์คลอง 4 สาย ร่วมกันบริหารจัดการน้ำจากอำเภอ จังหวัด สู่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำตรังกว่า 30 หน่วยงาน โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเชิงรับสู่เชิงรุกทั้งระบบในทุกมิติ ปรับโครงสร้างเมือง ทำอุโมงค์ร่วมคลองและถนน ถอดโฉนดคืนคลองเพื่อทำทางเบี่ยงน้ำ ใช้เครื่องมือแผนภูมินิเวศช่วยบริหารจัดการ ให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเฝ้าระวังและเตือนภัยแบบเรียลไทม์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบจนเกิดผลสำเร็จในการป้องกันภัยให้เมืองทุ่งสงครับ” นายทรงชัย กล่าว
ปิดท้ายที่ นายสนั่น คงแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านไสขนุน จังหวัดนครศรีธรรมราช อีกหนึ่งภาคีคนสำคัญกับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ใน การจัดการพรุ พร้อมรับวิกฤตไฟป่าใหญ่
“พรุควนเคร็ง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ ช่วยเก็บกักน้ำจืดในช่วงหน้าแล้ง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืช สัตว์ ท้องถิ่นหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะกระจูด ที่เป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง แต่ในขณะเดียวกันการสะสมของซากผุพังต้นไม้ในป่าพรุก็เป็นแหล่งเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้เกิดไฟป่า ลุกลามได้ง่ายและยากต่อการดับไฟ ดังนั้น ชุมชน อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ต้องตื่นตัวและร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการป้องกัน และขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ จัดให้มีการฝึกอบรม เสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาศักยภาพครูไฟป่า สนับสนุนอุปกรณ์การดับไฟป่า ส่งเสริมเยาวชนและชุมชนให้มีความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการการบริหารจัดการป้องกันไฟป่าที่ดี สู่การจัดการพื้นที่พรุอย่างยั่งยืนครับ” นายสนั่น กล่าว
การผสานพลังสังคมทุกภาคส่วนเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับ และขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ การพัฒนา และจัดการฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล อันเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
|