บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับ
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสานต่อค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ ครั้งที่ 18 ภายใต้แนวคิด “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer” สำหรับกิจกรรมในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 21 ตุลาคม 2566
ในปีนี้ มีเยาวชนหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมค่าย ‘เพาเวอร์กรีน’ จำนวนทั้งสิ้น 335 คน จาก 181 โรงเรียน 63 จังหวัด โดยผู้สมัครจัดทำคลิปวิดีโอรณรงค์ให้เกิด “ชุมชนไร้ขยะ” ส่งเข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และทางโครงการฯ ได้คัดเลือกเยาวชนจำนวน 50 คน จาก 48 โรงเรียน 30 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมภารกิจพิทักษ์โลกในครั้งนี้
เปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์นอกตำรา ปูพื้นฐานภาคทฤษฎีเข้มข้น
โครงการค่าย “เพาเวอร์กรีน” เน้นออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม – เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” ประเดิมค่ายฯ ด้วยการเปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ปูพื้นฐานภาคทฤษฎีเพื่อให้เข้าใจปัญหาขยะและแนวทางแก้ไขตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง รวมถึงการนำเทรนด์ 3 Greens: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมต่าง ๆ ในค่าย ซึ่งหัวข้อการเรียนรู้ภาคทฤษฎีที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การทำความเข้าใจวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Waste Management) การฝึกใช้ระบบภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System : GIS) ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้งานเพื่อจัดการปัญหาขยะ อีกทั้งยังมีพี่ ๆ ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังเพจ “Go Green Girls” อินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อม มาร่วมฝึกสร้างคอนเทนต์ และชวนเรียนรู้เทคนิคและประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ผลิตสื่อ ที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ปูทางสู่การเป็น “กรีนอินฟลูเอนเซอร์” เพื่อเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ก่อนจะได้รวมทีมพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากการเรียนรู้ตลอดทั้งค่ายต่อไป
เปิดประสบการณ์ ลงพื้นที่ ศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขด้วยการลงมือทำจริง
· ลงมือเก็บ คัดแยก พร้อมจัดการอย่างถูกวิธี
นอกจากการเรียนรู้ภาคทฤษฎีแล้ว เยาวชนทั้ง 50 คน ก็ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการจัดการปัญหาขยะที่หลากหลาย โดยค่ายฯ ร่วมกับมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย (TerraCycle Thai Foundation) พาเยาวชนลงเรือออกสำรวจปัญหาขยะ เก็บขยะในพื้นที่ชุมชนคลองลาดพร้าวใจกลางกรุงเทพฯ มีการเรียนรู้การคัดแยกขยะก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะอย่างถูกวิธี โดยกิจกรรมนี้มี แอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2565 และ ‘ฑูตมือวิเศษ’ ผู้แทนการรณรงค์แคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ ซึ่งเป็นโครงการด้านการจัดการขยะภายใต้ความร่วมมือของสำนักสิ่งแวดล้อมและภาคีมือวิเศษกรุงเทพ เข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ภายในค่ายฯ และร่วมขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน นอกจากนี้เยาวชนยังได้ร่วมสำรวจ ‘ขยะทะเล’ ทำกิจกรรมเก็บขยะชายหาดพร้อมทั้งเรียนรู้การปนเปื้อนของขยะพลาสติก ณ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยมีเซเลบริตี้คนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่าง เน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล และ เอิ๊ต-ภัทรวี ศรีสันติสุข ร่วมทริปในครั้งนี้ด้วย
· ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง
นอกจากนี้เยาวชนยังได้ศึกษาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงที่สามารถสัมผัสอาหารและเครื่องดื่มได้ (Food Grade) ใน จ.ระยอง ซึ่งการนำขยะพลาสติกมาผ่านกระบวนการคัดแยก ทำความสะอาด และรีไซเคิลเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกนี้สามารถลดขยะพลาสติกในประเทศได้ถึง 60,000 ตัน/ปี
· ลงพื้นชุมชน เรียนรู้วิธีการจัดการ ‘ขยะอินทรีย์’
เพื่อให้การเรียนรู้เรื่องขยะครอบคลุมมากขึ้น เยาวชนยังได้เรียนรู้วิธีการจัดการ ‘ขยะอินทรีย์’ และร่วมทำกิจกรรมกับวิสาหกิจเพื่อสังคม “เบตเทอร์ฟลาย” (Betterfly) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมภายใต้โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C รุ่นที่ 10 ซึ่งเป็นการจัดการขยะเศษอาหารเหลือทิ้งในชุมชนโดยใช้หนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) เป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการฝังกลบขยะอินทรีย์ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในชุมชน นับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน สามารถจัดการขยะอินทรีย์ในชุมชนเกาะสีชังไปแล้วเกือบ 7,000 กิโลกรัม
นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส - สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ค่ายเพาเวอร์กรีนดำเนินการมาเป็นปีที่ 18 แล้ว บ้านปูต้องการเพิ่มความเข้มข้นในเนื้อหาของค่ายฯ ไปพร้อมกับติดตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เราภูมิใจที่มีเยาวชนที่ให้ความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม และพร้อมอุทิศตนเป็นหนึ่งในแกนนำที่จะมีส่วนสร้างการตระหนักรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมมือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพ (Human Empowerment) ให้แก่เยาวชนทั้ง 50 คนนี้ จะทำให้พวกเขาเป็นเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันการปกป้อง ฟื้นฟู และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 18 กล่าวว่า “ปัญหาขยะในประเทศไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกระยะของวงจรชีวิตของขยะทุกประเภท ดังตัวอย่างที่สำคัญคือ ปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ค่ายเพาเวอร์กรีนจึงเลือกโฟกัสกับประเด็นการจัดการปัญหาขยะและการส่งเสริมให้เยาวชนก้าวเข้ามาเป็นกรีนอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อขยายกำลังคนที่สามารถช่วยสื่อสารความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง มีความน่าสนใจและน่าติดตาม เราเลือกออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาเรียนรู้ปัญหาขยะและแนวทางการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง พร้อมนำเอาองค์ความรู้เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เข้ามาประยุกต์ใช้ให้หลากหลาย ครอบคลุม และเกิดประโยชน์กับกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเรามุ่งหวังว่า เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนในครั้งนี้ จะได้สนุกไปกับประสบการณ์จากค่าย และเกิดแรงบันดาลใจในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”
|