ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการประกาศผลรางวัลชนะเลิศ เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 480,000 บาท ในกิจกรรมประกวดการพัฒนาเกมและโลกเสมือน ผ่านโปรแกรมไมน์คราฟต์ (Minecraft) หัวข้อ Bio-Circular-Green Energy for Sustainable Livings ภายใต้หลักสูตรพัฒนาทักษะพลังงานในยุคเศรษฐกิจ BCG โครงการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทน โดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ภายในงานมีผู้เข้าร่วมประกวดแข่งขันสร้างโลกเสมือนจริงด้วยเกมไมน์คราฟต์ สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาการใช้พลังงาน จากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด รอบ Semi Final 10 ทีม และรอบ Final 5 ทีม ท่ามกลางกองเชียร์ล้น TDPK Hall ชั้น 3 True Digital Park เมื่อวันเสาร์ที่ 30 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา
เริ่มต้นงานด้วยความคึกคักกับพลังงานสุดล้นของกลุ่มเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 ทีม ด้วยการผลัดกันขึ้นเวทีนำเสนอเกมไมน์คราฟต์ สร้างเมืองเกี่ยวกับการพัฒนาการใช้พลังงานในรูปแบบเล่นสนุก เข้าใจง่ายแถมได้ความรู้จริง! โดยแต่ละทีมต้องเลือก 1 หัวข้อจาก 2 หัวข้อ มาสร้างเป็นเกมในการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ 1) การพัฒนาโลกเสมือนจริง (Creative mode) ผู้เข้าแข่งขันต้องนำเสนอไอเดียแนวคิดสร้างสรรค์ของโลกเสมือนจริง Energy Transformation หรือโลกสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด (Green World with Clean Energy) ให้ถูกต้องตามหลักทฤษฎีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 2) การพัฒนาเกมเอาตัวรอด (Survival mode) ผู้เข้าแข่งขันต้องนำเสนอไอเดียแนวคิดสร้างสรรค์ของโลกที่เกิน 2 องศา (Over 2 Degree) หรือเมืองพลังงานยั่งยืน (Sustainable Energy City) ที่ถูกต้องตรงตามหลักทฤษฎีและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายแวดวงให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน
ผอ. ธรณพงศ์ เล็กสกุลดิลก ผู้อำนวยการฝ่ายกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. กล่าวถึงการโครงการฯ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ได้ให้ความรู้และสนับสนุนเยาวชนไทยให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยใช้เกมเป็นสื่อกลางครั้งนี้ว่า “ทุกวันนี้คนพูดถึงเรื่องโลกเดือดและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมาก ทำให้เรามองข้ามไม่ได้ ดังนั้นจากการดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2566 จนมาถึงรอบชิงชนะเลิศ วัตถุประสงค์หลักที่เราต้องการที่สุดก็คือ ให้ทุกคนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดได้ ซึ่งการที่เราใช้สื่อเป็นเกมโลกเสมือนต่างๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเยาวชน เลยถือโอกาสใช้เครื่องมือนี้ ส่งผ่านความรู้เรื่องพลังงานต่างๆ และเรื่อง BCG ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันและในอนาคต ทั้งยังสามารถส่งต่อความรู้ที่ได้ไปให้ประชาชนอื่นๆ ได้มีความรู้ด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า รู้ถึงเหตุผลที่ทำให้โลก
ร้อนขึ้น เช่น พลังงานเป็นตัวที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าดำเนินการอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบกับโลกได้บ้างก็จะเป็นเรื่องที่ดี สุดท้ายอยากจะฝากถึงทุกคนในการตระหนักถึงการใช้ชีวิต ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นเพื่ออนาคตเราทุกคน”
ด้าน ผศ.ดร.กมลพรรณ แสงมหาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ผู้จัดการพลังงานและเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการพัฒนาทักษะพลังงานในยุคเศรษฐกิจ BCG กล่าวว่า “สิ่งที่ได้เห็นในกิจกรรมครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทักษะพลังงานในยุคเศรษฐกิจ BCG ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยทางมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ของสำนักงานกกพ. โดยผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาทักษะพลังงานในยุคเศรษฐกิจ BCG เป็นโครงการของทางม.เกษตรศาสตร์ โดยคณะบริหารธุรกิจ เพื่อช่วยให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต ที่เป็นภาวะโลกเดือดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้บริหารจัดการด้านไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวของทางมหาวิทยาลัยยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หนึ่งของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า โลกร้อนใกล้ตัวเรามาก ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขยายความรู้ได้ในวงกว้างและรวดเร็ว จึงใช้สื่อเป็นตัวช่วยสำคัญ”
ผศ.ดร.กมลพรรณ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ติดตามผลงานการแข่งขันครั้งนี้ได้ทางสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น YouTube ของมหาวิทยาลัยและทางสำนักงาน กกพ. เพื่อขยายความรู้ไปสู่ประชาชนในวงกว้างต่อไป
สำหรับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันในปีนี้ ได้แก่ ทีม ICDI1 วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล จาก ม.เชียงใหม่ รับเงินรางวัล 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ICDI2 จาก ม.เชียงใหม่ ได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม DLWTYLM จาก รร.เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ รับเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท รางวัลปลอบใจ 5 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท และรางวัลเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้ายอีก 10 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการจับลักกี้ดอว์ เพื่อลุ้นรางวัลใหญ่ ให้ได้สนุกสนานกันตลอดทั้งงาน
สำหรับความรู้สึกของ 3 ทีมที่ได้รางวัลใหญ่ในครั้งนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภูมิใจกับความพยายามและความตั้งใจของตนเองเป็นอย่างมาก และจะนำความรู้ เงินรางวัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคต
“ทีมเราวาง Game Play และ Storytelling ให้น่าสนใจไม่เน้นพลังงานจนเกินไป แต่ใช้ชื่อวางโครงเรื่องให้คนอยากเรียนรู้ไปด้วยกัน ทำเรื่องยากให้สนุกไปกับเกมมากขึ้น ซึ่งได้จากการเข้ากิจกรรม Day Camp ของโครงการ ได้ลงมือทดลองทำจริง ได้รับบทเรียนครบรสและได้รับความรู้มากมาย พวกเราไม่ได้เรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมมา ฉะนั้น กิจกรรมนี้จึงทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ ช่วยส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พวกเราก็จะเอาความรู้และวิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDG ค่อนข้างครอบคลุมอยู่ในชีวิตประจำวัน ในอนาคตถ้ามีโอกาสได้ทำงานใดๆ ก็อยากจะสอดแทรกความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย ส่วนตัวเรียนด้านธุรกิจก็อาจจะนำรางวัลที่ได้ไปทำธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยค่ะ” ทีม ICDI1 กล่าว
“กว่าจะได้เป็นผลงานชิ้นนี้พวกเราตั้งใจและใช้เวลามากๆ โดยเน้นเรื่องการวาง Storytelling และช่วยกันใส่ข้อมูลให้ครบ ซ้อมพรีเซนต์กันบ่อยๆ โครงการนี้ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ สามารถเอาไปต่อยอดในอนาคตได้ สำหรับรางวัลที่ได้ก็จะนำไปเป็นทุนการศึกษา และใช้ให้คุ้มค่าที่สุดค่ะ” ทีม ICDI2 กล่าว
ด้านทีม DLWTYLM กล่าวว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการทำงานเป็นทีม การแข่งขันครั้งนี้ ค่อนข้างใช้เวลานาน ทำให้ต้องแบ่งเวลาในชีวิตประจำวันและการทำงานให้ดี สำหรับรางวัลที่ได้นี้นำไปต่อยอดได้เยอะ ทั้งมุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนๆ และคณะกรรมการ ทำให้เกิดผลงานที่สร้างสรรค์ของพวกเรา Eco Horizon เมืองแห่งจินตนาการ ทุกอย่างสามารถเป็นจริงได้ครับ”
ทั้งนี้ โปรแกรมไมน์คราฟต์ (Minecraft) วิดีโอเกมแซนด์บ็อกซ์ โดยบริษัทพัฒนาเกมจากประเทศสวีเดน สามารถเล่นได้ในหลากหลายแพลตฟอร์ม ในเกมไมน์คราฟต์ ผู้เล่นมีอิสระในการสร้างและสำรวจโลก 3 มิติที่สร้างขึ้นอย่างเป็นกระบวนการในลักษณะบล็อกเหลี่ยมคล้ายตัวต่อเลโก้ ด้วยภูมิประเทศที่แทบไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโหมดเกมที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถต่อสู้กับคอมพิวเตอร์ ตลอดจนร่วมมือหรือแข่งขัน กับผู้เล่นอื่นในโลกเดียวกัน โหมดเกมในที่นี้ประกอบด้วยโหมดเอาชีวิตรอดซึ่งเป็นโหมดที่ผู้เล่นต้องเก็บเกี่ยวทรัพยากรเพื่อสร้างสิ่งต่างๆ และดูแลรักษาความเป็นอยู่ด้วย โดยอีกส่วนคือโหมดสร้างสรรค์ซึ่งมีทรัพยากรอย่างไม่จำกัดให้แก่ผู้เล่น และสามารถเข้าถึงการบินได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นยังสามารถดัดแปลงและสร้างระบบเกม ไอเทม และสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ ได้เช่นกัน