รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ได้ออกมาเขียนเป็นบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการวัคซีนโควิด 19 ที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังในขณะนี้ ว่า ยาหรือวัคซีน หรือแม้แต่พวกสมุนไพรต่างๆ ที่เคลมว่ามาจากธรรมชาตินั้น ล้วนมีโอกาสที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ หรือภาษาบ้านๆ คือมีโอกาสเกิดอาการแพ้ได้ โดยมีอาการน้อยไปถึงรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป
อาการไม่พึงประสงค์หรือ adverse events (AE) นั้นแบ่งได้หลายประเภท เช่น อาการไม่พึงประสงค์แบบไม่รุนแรง (general AE) อาทิ ปวดบวมแดงร้อน เป็นไข้, อาการไม่พึงประสงค์แบบรุนแรง (serious adverse events: SAE) ได้แก่ เสียชีวิต อาการแพ้รุนแรงจนคุกคามต่อชีวิต ช็อค ความดันตก อาการป่วยอื่นที่ทำให้ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือนอนรพ.ยาวนานขึ้นกว่าที่ควร พิการ หรือทำให้เกิดความผืดปกติของทารกในครรภ์, อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่คาดคิด (Unexpected adverse events: UAE) ได้แก่ การเกิดภาวะผิดปกติต่างๆ ที่ไม่เคยมีการสังเกตพบมาก่อน เป็นต้น
ประเด็นที่โหมกระพือข่าวกันตั้งแต่วันก่อนคือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำที่เกี่ยวข้องกับการได้วัคซีนโควิดของแอสตร้านั้น ในทางการแพทย์แล้วเป็นอาการไม่พึงประสงค์แบบรุนแรง (SAE) ซึ่งมีการสังเกตพบตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีการเริ่มใช้วัคซีนนี้ในยุโรปและอเมริกา
วัคซีนประเภทนี้ เรียกว่า วัคซีนชนิดใช้พาหะเป็นตัวนำส่งสารพันธุกรรมของไวรัสเพื่อใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย (vector based vaccine)
สำหรับวัคซีนโควิดที่เป็น vector based นั้น ที่เราเห็นและมีใช้กันตั้งแต่ช่วงแรกๆ คือ ของแอสต้าเซนิก้า และของแจนเซ่น โดยทั้งสองนั้นใช้ adenovirus เป็น vector
หลังมีการใช้กันเป็นหนึ่งในวัคซีนโควิดเข็มแรกๆ พบว่ามีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงคือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำ แม้โอกาสเกิดน้อย แต่จัดเป็น SAE ที่หน่วยงานที่ควบคุมดูแลมุกประเทศล้วนต้องเฝ้าระวัง บันทึกเหตุการณ์ รายงาน และทำการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ จนนำไปสู่คำแนะนำตั้งแต่ช่วงปี 2021 ว่าภาวะนี้อาจต้องระวังเป็นพิเศษในกลุ่มหญิงที่อายุน้อย และคนที่อายุน้อยกว่า 50-60 ปีลงมา
นอกจากนี้ทางยุโรปจึงได้ปรับแผนการฉีดวัคซีนเข็มสองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน โดยใช้ mRNA vaccines แทน ด้วยเหตุผลข้างต้น และข้อมูลด้านประสิทธิภาพที่ออกมาในขณะนั้น
นอกจากเรื่องลิ่มเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำจาก adenoviral vector vaccines ดังที่กล่าวมาแล้ว เรายังคงน่าจะจำได้กับเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่อาจต้องระวังในกลุ่มคนที่เป็นเพศชาย อายุน้อยกว่า 25-30 ปี ที่จะรับ mRNA vaccines เป็นต้น
เน้นย้ำว่า อาการไม่พึงประสงค์นั้นมีโอกาสเกิดได้ แต่มักไม่รุนแรง ส่วนประเภทรุนแรงนั้นโอกาสเกิดน้อยถึงน้อยมาก การใช้ยาหรือวัคซีนต่างๆ แพทย์ก็จะชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงดังที่อธิบายมา
เล่าเรื่องนี้ให้เราได้ทบทวนความจำ
จะได้ไม่ตื่นตระหนกกับข่าวที่แพร่กระจายจนก่อให้เกิดความวิตกกังวล และจะได้ไม่ตกหลุมพรางที่มีความพยายามทำให้กลัววัคซีนไปหมดทุกสิ่งอย่าง
หมอ บุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานด้านสาธารณสุข ต่างทราบกันดีว่าอาการไม่พึงประสงค์นั้นเกิดขึ้นได้ และมักให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและประชาชนเสมอ โดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนและความเสี่ยงต่ออาการแพ้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในประชากรแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
คำแนะนำและข้อควรระวังของวัคซีนแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มประชากร โดยอิงข้อมูลทางการแพทย์ที่ศึกษาวิจัยกันมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามมาตรฐานสากล โดยเป็นข้อมูลวิชาการที่เข้าถึงได้ โปร่งใส ตรวจสอบได้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โรคโควิด-19 ทำให้เราติดเชื้อ ป่วย ป่วยรุนแรง ตาย รวมถึงทุพพลภาพ ไปเป็นจำนวนมาก หากจำกันได้ ทั้งระลอกสองจากสายพันธุ์ D614G และระลอกสามจากสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า ซึ่งเป็นช่วงที่ยามีจำกัด และวัคซีนก็ยังได้ไม่ทั่วถึง
จนเข้าสู่ปีที่ 3-4 ได้วัคซีนกันครบถ้วนมากขึ้น อัตราการป่วยรุนแรง การเสียชีวิต ก็ลดลงชัดเจน อันเป็นผลมาจากทั้งสายพันธุ์ไวรัส ยาที่เข้าถึงได้ดีขึ้น และวัคซีน
ย้ำว่าวัคซีนคืออาวุธสำคัญ ที่ช่วยชีวิตประชากรโลก
อย่าหลงติดกับดักแห่งความกลัว นำไปสู่สินค้าและบริการพิลึกพิลั่นที่หวังหากำไรจากกับดักแห่งความกลัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นบริการล้างพิษด้วยสารเคมี สมุนไพร กัญชา กัญชง อาหารเสริม หรือแม้แต่พลังพิเศษต่างๆ ที่กำลังโฆษณาประชาสัมพันธ์กัน
|