รัฐผนึกเอกชน ผลักดันยกระดับเมืองอัจฉริยะ...ต้นแบบเมืองพัฒนาและน่าอยู่ ยืนพื้นเรื่องสิ่งแวดล้อม หนึ่งในองค์ประกอบ 7 โมดูลหลัก หากแต่ละเมืองต้องการสอบผ่านเกณฑ์...Depa คัดเลือก 36 เมือง จาก 161 เมืองที่ยื่นเป็นเมืองอัจฉริยะ ปตท. สามย่าน มช.ต้นตำรับ Smart Cities…ด้าน BOI ยื่นสิทธิประโยชน์เอื้อสิทธิภาษี หากสามารถยกระดับเมืองอุตสากรรมผ่านเกณฑ์...สิ้นปีนี้ไทย ได้รับคัดเลือกจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ‘IEEE International Smart Cities ครั้งที่ 10” ครั้งแรกในอาเซียน ณ เมืองพัทยา ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 ณ รร.รอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จ.ชลบุรี
รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อุปนายกด้านการจัดประชุมวิชาการ (IEEE PES Vice Chair Meeting and Conference) กล่าวถึงการจัดงานเมืองอัจฉริยะและพลังงานระดับนานาชาติ ว่า ได้มาจัดที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก และนับเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน หลังจากได้มีการจัดมาอย่างต่อเนี่องทุกปีในหลากหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกา ซึ่งงาน IEEE International Smart Cities Conference เป็นงานที่ครอบคลุมทั้งการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ”
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของงานประชุมวิชาการนานาชาติ 2024 IEEE International Smart Cities Conference ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักพัฒนา นักวิชาการ นักศึกษา นักวิเคราะห์ นโยบาย สถาปนิก วิศวกร ของหน่วยงานและองค์กรภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ในด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนผู้บริหารเมืองอัจฉริยะ และผู้ประกอบการชั้นนำทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยคาดว่าจะมีผู้ข้าร่วมงาน 500 - 700 คน เตรียมพบกับการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE-ISC2-2024) ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิดหลัก “Smart Cities : Revolution for Mankind” ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี
ด้าน รศ.ดร.มนตรี วิบูลยรัตน์ Conference Chair, ISC2 2024 ได้ให้คำจำกัดความคำว่า เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง นิยาม ขอบเขต และองค์ประกอบของเมืองอัจฉริยะ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้กำหนดนิยามของเมืองอัจฉริยะว่า เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่าย และการใช้ทรัพยากร โดยการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน
ดังนั้น การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะยังได้กำหนด องค์ประกอบพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะไว้ 7 ด้าน คือ 1. ระบบขนส่งและการสื่อสารอัจฉริยะ (Smart Mobility) เมืองที่มุ่งเน้นการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน การเดินทางสะดวกปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการระบบโลจิสติกส์ และการใช้ยานพาหนะประหยัดพลังงาน 2. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้บริหารเมืองหรือผู้นำท้องถิ่นที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเมืองสร้างพลเมืองที่มีความรู้และความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบรวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม 3. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เมืองที่มุ่งเน้นการสนับสนุน ให้มีระบบบริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น บริการด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี การเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรมไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม
4. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เมืองที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยจะผลักดันเมืองเป้าหมายเป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านใดด้านหนึ่งบนฐานนวัตกรรม เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น 5. ระบบบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐ เช่น Smart Portal เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 6. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) 7. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เมืองที่มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารจัดการ และติดตามเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
“Smart Cities ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร อาทิเช่น เมืองภูเขา เมืองชายทะเล ภูก็ตย่อมมีความแตกต่างจากเชียงใหม่ ขอนแก่น หรือน่าน ไม่ต้องการเป็นเมืองไฮเทค หรือเป็นเมืองเทคโนโลยี แต่เป็นสโลไลฟ์ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น การยื่นขอตราสัญลักษณ์ Smart Cities ไม่จำเป็นต้องครบทั้ง 7 โมดูล จะผ่านมาตรฐานเพียงข้อหนึ่งข้อใดก็ได้ เนื่องจาก Smart Cities ถือเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของยุคสมัยใหม่ ความก้าวหน้าเหล่านี้ช่วยให้เราเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดของเสีย และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด แน่นอนว่ายุคการลดคาร์บอนไม่ได้ เป็นเพียงเรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการสร้างชุมชนที่น่าอยู่และฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของพลเมืองในการตัดสินใจเลือกเพื่อความยั่งยืน ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และสร้างความมั่นใจ ว่า Smart Cities ยุคใหม่จะเจริญเติบโตอย่างสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม”
ปิดท้ายด้วย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า Smart Cities จะต้องทำทั้งหมด 105 เมือง ซึ่งในแต่ละเมืองจะต้องมีประชากร 10,000 คนขึ้นไป จะเป็นรูปแบบองค์กรเอกชน ภาครัฐ หรือส่วนใหญ่เป็นไปในรูปแบบเทศบาลเมือง เทศบาลนคร หรือ ตำบล และต้องยืนพื้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จากทั้งหมด 7 โมดูล อาทิ น่าน เป็นเมืองสำหรับผู้สูงวัยใช้ชีวิตช่วงบั้นปลาย ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับสากล หรือเอกชนบางรายที่ช่วยสนับสนุน Smart Energy ก็จะได้รับสิทธิพิเศษภาษีจาก BOI เป็นการสร้างแรงกระตุ้น หรือในเมืองอุตสาหกรรม EEC ก็จะได้รับสิทธิพิเศษเช่นเดียวกัน รวมถึงการบริหารงานในส่วนท้องถิ่นที่สามารถยกระดับเป็น Smart Cities ได้ ก็จะได้รับสิทธิพิเศษเช่นเดียวกัน โดยเมืองที่ได้รับคัดเลือกผ่านเกณฑ์ Smart Cities มีทั้งหมด 36 เมือง จาก 161 เมืองทั่วประเทศ อาทิ ปตท.ทุ่มทุนสร้างเมืองอัจฉริยะขึ้นมา หรือแม่เมาะ เหตุผลที่สร้าง เพราะต้องปิดเหมือง จึงจำเป็นต้องฟื้นอีโคโนมี่ หรือเรื่องของสมาร์ทฟาร์มขึ้นมาทดแทน เป็นการใช้พลังงานทางเลือกอื่น หรือ สามย่าน สมาร์ทซิตี้ อุทยาน 100 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหล่านี้เป็นต้น
|