เปิดวิถีทางเดินขายตรงต้องรอด ก้าวสู่ผู้ประกอบการมืออาชีพสู้รบในเวทีมหภาค...ผ่านตำรา ผ่านประสบการณ์ตรงจาก ดร.กัมปนาท บุญราศรี แบบไม่มีหมกเม็ด เพราะมนต์เสน่ห์ขายตรงหยั่งรากลึก ดึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ทั้งไทย เทศน์ หันมาชิงเค้กกันยกใหญ่เช่นเดิม...พร้อมเสนอแนะแผนต่อกรบนแพลตฟอร์มคอมเมิร์ซ บนเวทีเครือข่ายยังคงมีความเหนือชั้นกว่าเสมอ หากคุณใช้เครื่องมือเหล่านั้นเป็น...ชี้แนะ แนวทางรับมือกับภาวการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยถดถอย กำลังซื้อหดหาย สวนทางกับพลังเครือข่ายธุรกิจขายตรง ยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งเสมอ หากคุณรู้จักปรับและรับมือกับสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นเป็น...ติดตามอ่านได้ ณ บัดนี้
ดร.กัมปนาท บุญราศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอยรา แพลนเน็ต จำกัด กล่าวถึงทิศทางธุรกิจขายตรงในประเทศไทยในปี 2568 ว่า “ธุรกิจขายตรงไทย” มีแนวโน้มเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่ต้องรับมือเพื่อความอยู่รอดและการเติบโต ในสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้ คือ ปัจจัยที่ 1. เกิดภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากการแข่งขันในตลาดขายตรงเพิ่มสูงขึ้น จากผู้ประกอบการในประเทศและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่มีราคาถูกและเข้าถึงได้ง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงต้องเผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้แพลตฟอร์ม e-commerce และ social commerce มากขึ้น ทำให้การขายแบบดั้งเดิมจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วตาม
ปัจจัยที่ 2. กำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีการเติบโตช้าลงในปี 2568 โดยมีการคาดการณ์จากสถาบันการเงิน SCB EIC ว่า GDP (Gross Domestic Product - ผลิตภัณฑ์มวลรวม) เศรษฐกิจไทยมวลรวมจะโตไม่เกิน 2.4% หรือต่ำกว่านั้น เหตุเพราะมีความท้าทายทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศเป็นไปในทิศทางชะลอตัว โดยเฉพาะมาตรการของ Trump ที่ออกมาตรการกีดกันทางการค้าจากทั่วโลก โดยโฟกัสเป้าไปที่ประเทศจีนเป็นอันดับ 1 ซึ่งสวนทางกับตัวเลขที่รัฐบาลได้คาดการณ์ว่า GDP จะโตราวๆ 2.6% รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยถึงแม้จะการลดลงมาบ้าง แต่ก็ไม่เป็นผลใดๆ ต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม กลายเป็นปัจจัยสำคัญกดดันกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดทางด้านรายได้
ปัจจัยที่ 3. การปรับตัวต่อเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ธุรกิจขายตรงต้องเผชิญกับความจำเป็นในการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ การตลาดแบบดิจิทัล และการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงลูกค้า เพื่อสร้างให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่ง ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับผู้เล่นรายใหม่ รวมถึงสูญเสียให้กับสินค้าที่มีความล้ำหน้าในนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตลาดนวัตกรรมสินค้าภายในประเทศหรือต่างประเทศ
ปัจจัยที่ 4. ความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั่วโลกหันมาบริโภคสินค้าที่เป็นอาหารกรีนมากขึ้น โดยผู้บริโภคกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสินค้ากรีนนั้น เริ่มมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพ ความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ฉะนั้น ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ ล้วนเป็นสินค้ากรีน (Green Products) ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ดังนั้น ธุรกิจขายตรงจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแนวโน้มดังกล่าว เพื่อรักษาความเป็นผู้นำทางด้านการตลาดอย่างยั่งยืน
ปัจจัยที่ 5. ภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เช่น สงครามการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้า อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขายตรงในด้านต้นทุนสินค้าและการนำเข้าสินค้า
บอสไอยรา จึงอยากเสนอแนะแนวทางรับมือ สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจขายตรงให้สามารถรับมือกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้คือ 1. ต้องพัฒนาช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ด้วยการลงทุนในแพลตฟอร์มคอมเมิร์ซ และช่องทางโซเชียล มีเดียต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าและสามารถขยายฐานกับลูกค้าใหม่ได้อีกด้วย 2. อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง รวมถึงมุ่งเน้นจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับภาคบริการที่ทำให้ความคล่องตัวมากขึ้น ตลอดจนการสร้างสตอรี่ (Story) ที่สามารถเชื่อมโยงถึงผู้บริโภคได้โดยตรง 3. พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลกและสุขภาพ เช่น สินค้าปลอดสารพิษหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก สินค้าที่อยู่ในเทรนด์ และ สินค้าสำหรับผู้สูงวัย ที่ตลาดมีอัตราการเติบโตพุ่งสูงมากในขณะนี้ และ 4. ปรับตัวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเปิดตลาดให้กว้างมากขึ้น เพื่อต่อกรกับอินฟลูเอ็นเซอร์ ติ๊กต๊อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ และบล็อกเกอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงต่ออำนาจการซื้อ-ขายในตลาดสภาวะปัจจุบัน รวมถึงการจัดการกับ Big Data เพื่อนำวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคลูกค้า และนำมาปรับกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะสม 4. สร้างเครือข่ายพันธมิตร โลจิสติกส์ ด้วยการจับมือร่วมกับพาร์ทเนอร์ในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย และลดต้นทุนการขนส่ง เป็นต้น
ถึงแม้ว่า ธุรกิจขายตรงจะเผชิญความท้าทายมากมายในปี 2568 แต่การปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างทันท่วงที ธุรกิจเครือข่ายขายตรงก็ยังมีมนต์เสน่ห์เสมอ และเป็นเรื่องยากที่ธุรกิจอื่นๆ จะสามารถเข้ามาชอนไชได้โดยง่าย หากคุณมีเครื่องมือทางการตลาดที่พรั่งพร้อม ไม่ว่าโลกธุรกิจจะก้าวเดินไปทิศทางไหน โลกของธุรกิจเครือข่ายก็ยังมีพลัง และยังมีมนต์เสน่ห์ที่หอมหวานอยู่เสมอ เห็นได้จากผู้ประกอบการหน้าใหม่ในหลากหลายธุรกิจได้เข้ามาลองลิ้มชิมรสอยู่เรื่อยไป เพราะพลังเครือข่าย มันคือ ขุมพลังที่เกิดจากการสร้างแรงศรัทธาในขายตรง หากองค์กรคุณยังยึดมั่น ถือมั่น เม็ดเงินนับแสนล้านบาท/ปีที่หยั่งรากลึกอยู่ในธุรกิจขายตรง ตัวเลขการเติบโตมวลรวมนี้ มันก็มิได้จางหายไปไหน? จึงอยากให้ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงน้ำดีในทุกๆ ค่าย เดินหน้าสู้ต่อไป เพื่อคว้าชัยชนะและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์กรธุรกิจ ในท้ายที่สุดคุณก็จะสามารถรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำในวงการธุรกิจขายตรงได้ดังเดิม ดร.กัมปนาท กล่าวสรุปทิ้งท้าย
|