“สมาคมไทยรับสร้างบ้าน” Thai Home Builders Association : THBA ประเมินปริมาณและมูลค่า “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศปี 2567 (ไม่ใช่บ้านจัดสรร) คาดปรับตัวลดลงแรงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณบ้านสร้างเองเมื่อปี 2566 มีมูลค่า 172,000 ล้านบาท แต่ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าลดลงเหลือ 131,000 ล้านบาทเศษ หรือลดลง 41,000 ล้านบาทเศษ คิดเป็น 24% โดยเป็นผลมาจาก 5 สาเหตุหลักๆ ประกอบด้วย 1. ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า 2. ปัญหาหนี้ครัวเรือน 3. ธนาคารเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ 4. ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น และ 5. กำลังซื้อผู้บริโภคค่อนข้างซบเซา
สำหรับสัดส่วนมูลค่าตลาด “รับสร้างบ้าน” ทั่วประเทศปี 2567 พบว่าตัวเลขปรับตัวลดลงเช่นกัน (กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านหรือศูนย์รับสร้างบ้าน) โดยเมื่อปี 2566 ตลาดรับสร้างบ้านมีมูลค่า 18,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2567 มูลค่าตลาดปรับตัวลดลงเหลือ 14,500 ล้านบาท หรือลดลง 20% สำหรับสัดส่วนมูลค่าตลาดที่ลดลงมากที่สุด (ตามลำดับ) แยกตามภูมิภาค 3 ลำดับแรก 1) รับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2) รับสร้างบ้านพื้นที่ภาคเหนือ และ 3) รับสร้างบ้านพื้นที่ภาคใต้ โดยสมาคมฯ ประเมินว่าสมาชิกธุรกิจรับสร้างบ้านจาก 2 สมาคม (ส.ไทยรับสร้างบ้าน และ ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน) มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 9,800-10,000 ล้านบาทเศษ หรือคิดเป็น 68% ของมูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน และคิดเป็น 8% ของมูลค่าตลาดรวมบ้านสร้างเอง
ในปี 2568 ทางสมาคมฯ คาดการณ์ปริมาณและมูลค่า “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศ มีแนวโน้มทรงตัวหรือใกล้เคียง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2567 ที่ผ่านมา คาดว่าบ้านสร้างเองมีมูลค่า 120,000 - 130,000 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญๆ ที่ทำให้บ้านสร้างเองยังไม่อาจฟื้นตัวยังคงวนเวียนอยู่กับปัจจัยเดิมๆ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจประเทศที่ฟื้นตัวช้าหรือชะลอตัว และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ในส่วนของปัจจัยบวกที่อาจจะประคองมิให้ปริมาณบ้านสร้างเองลดลงไปมากกว่านี้ ได้แก่ ต้นทุนวัสดุและราคาบ้านที่ยังทรงตัวหรือราคาไม่สูงขึ้น (เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา)
ทั้งนี้ ในส่วนของปริมาณและมูลค่าตลาด “รับสร้างบ้าน” ในปี 2568 มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คาดการณ์มูลค่าตลาดประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาทเศษ โดยสมาคมฯ คาดว่าสมาชิก 2 สมาคมจะมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดรับสร้างบ้าน 70% (เพิ่มขึ้นเล็กน้อย) หรือคิดเป็นมูลค่า 10,000-10,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงแข่งขันกันสูงมาก ทั้งตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด (Red Ocean) ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่มีการปรับตัวใดๆ ก็คงแข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ หรือต้องออกจากธุรกิจนี้ไป
“หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อนหรือในช่วงระหว่างปี 2546-2547 ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านเกือบทั้งหมดแข่งขันกันกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ไม่นับรวมผู้รับเหมาทั่วไป) โดยตลาดรวมรับสร้างบ้านมีมูลค่า 5,500-6,000 ล้านบาทเศษ ราคาค่าก่อสร้างบ้านโดยเฉลี่ย 7,000-9,000 บาทเศษ/ตารางเมตร ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านชัดเจน ว่า มีการแข่งขันกันรุนแรงมาก หรืออาจเรียกได้ว่าตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ เป็นเรดโอเชียล (Red Ocean) กระทั่งทำให้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำบางรายต้องปรับตัว เพื่อหนีการแข่งขันที่รุนแรงออกไปบุกเบิกตลาดรับสร้างบ้านในภูมิภาคหรือต่างจังหวัดแทน ในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ (Blue Ocean) และเวลาต่อมาผู้ประกอบการรายอื่นในเขตกรุงเทพฯ ต่างก็เริ่มขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัดบ้างเช่นกัน พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ในทุกจังหวัดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน”
คุณนิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ เปิดเผยว่า “ภาวะเศรษฐกิจในประเทศตลอดปี 2567 ฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้ความต้องการสร้างบ้านและใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านของผู้บริโภคลดลง ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใหม่-รายเก่าที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่ามีจำนวนผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน แข่งขันกันอยู่ในภูมิภาคจังหวัดละไม่น้อยกว่า 15-30 ราย ส่งผลให้ธุรกิจรับสร้างบ้านมีการแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในภูมิภาคที่เป็นจังหวัดหัวเมืองหลัก อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา ภูเก็ต ฯลฯ อาจสะท้อนได้ว่าตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ณ ปัจจุบันกลายเป็นเรดโอเชียล (Red Ocean) แทบไม่ต่างอะไรกับตลาดรับสร้างบ้านพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในอดีตที่ผ่านมา
ทางด้าน คุณสิทธิพร สุวรรณสุต กรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวเสริมว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้มูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านจะสูงขึ้นเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีก่อน หากเป็นการเติบโตในแง่ของค่าก่อสร้างต่อหน่วยหรือมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากต้นทุนวัสดุและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด แต่ในแง่ของปริมาณหรือจำนวนหน่วยตลาดรับสร้างบ้านกลับขยายตัวน้อยกว่า ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มจำนวนหน่วยก่อสร้างต่อปีได้มากขึ้น โดยสาเหตุที่สำคัญคือ 1) ขาดการพัฒนาองค์ความรู้และบริหารธุรกิจให้ทันสมัย 2) ขาดการนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้พัฒนากระบวนการก่อสร้างและสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3) ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังและชัดเจน
“หากกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านต้องการจะเพิ่มแชร์ส่วนแบ่งจากมูลค่าตลาด “บ้านสร้างเอง” 120,000-130,000 ล้านบาทเศษในปี 2568 และปีต่อๆ ไปให้ได้มากกว่า 8% บรรดาผู้ประกอบการและกลุ่มผู้นำธุรกิจก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้ในกระบวนการก่อสร้างและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อจะพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจและลบข้อจำกัดที่มี พร้อม ๆ กับเปลี่ยนมาแข่งขันกันในเชิงคุณภาพมากกว่าแข่งขันราคา ควรสร้างจุดเด่นหรือจุดขายของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับและไว้วางใจ”
|