ตามที่บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) และบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด หรือ (“บริษัท เซท เอนเนอยีฯ”) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเรียกร้องค่าเสียหายจากกฟภ. ฐานกระทำละเมิดบริษัททั้งสองไว้แล้วนั้น แต่จนถึงวันนี้ศาลปกครองกลางยังไม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้องของบริษัททั้งสองไว้พิจารณา ซึ่งไม่แน่ว่าศาลปกครองกลางจะพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลปกครองหรือไม่ และคดีใกล้ขาดอายุความแล้ว บริษัทฯ และ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ จึงต้องยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งไว้ด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องอายุความ หากภายหลังมีการวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลใด
ที่มาของการยื่นฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขอความร่วมมือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือบริษัทในเครือของกฟภ. ศึกษาและวางแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด การเชื่อมต่อเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า การจำหน่ายพลังงาน การปรับปรุง บำรุงและรักษาระบบการผลิตและเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าสะอาด ให้สามารถใช้ในการสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยกฟภ.มอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกฟภ.เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งจำหน่ายเข้าระบบโครงข่ายของกฟภ.ในเขตพื้นที่ EEC
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และการจัดหาแหล่งเงินทุนของกฟภ.และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ในการดำเนินโครงการดังกล่าวซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก โดยในระยะแรกการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุนโครงการประมาณ 23,000 ล้านบาท บริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และเป็นบริษัทผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทย จึงได้รับเชิญให้ร่วมกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด การเชื่อมต่อเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า การจำหน่ายพลังงาน การปรับปรุง บำรุงและรักษาระบบการผลิตและเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าสะอาด ให้สามารถใช้ในการสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC
จากนั้นจึงเกิดการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะในพื้นที่ EEC ระหว่างกฟภ. บริษัทฯ และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ จนช่วงปลายปี 2562 มีการร่วมกันก่อตั้ง บริษัท เซท เอนเนอยีฯ ขึ้นมาเพื่อดำเนินโครงการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งคณะกรรมการของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ และกฟภ. ต่างมีมติเห็นชอบให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ร่วมลงทุนในบริษัท เซท เอนเนอยีฯ จำนวนร้อยละ 20 ของเงินลงทุนทั้งหมด และต่อมาก็ได้มีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็นจำนวนร้อยละ 25 โดยกระบวนการคัดเลือกให้บริษัทฯ มาเป็นผู้ร่วมลงทุนในการดำเนินโครงการนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนมาเป็นผู้ร่วมลงทุนของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯและกฟภ.เอง ต่อมาปลายปี 2563 กฟภ.ได้อนุมัติให้จัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC ระหว่างบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ กับ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ ภายหลังจากวันที่กฟภ. ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ เพียงวันเดียว โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกฟภ. กับบริษัทพีอีเอ เอ็นคอมฯ ระบุว่ากฟภ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และบริษัทพีอีเอ เอ็นคอมฯ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและในข้อ 8 ของสัญญาระบุเรื่องการโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ผลิตไฟฟ้าว่า ห้ามมิให้ผู้ผลิตไฟฟ้าโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น เว้นแต่ผู้รับซื้อไฟฟ้าอนุญาตให้โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม ฯ กับบริษัท เซท เอนเนอยีฯ ระบุว่าบริษัทพีอีเอ เอ็นคอมฯ เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และบริษัท เซท เอนเนอยีฯ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า กล่าวคือ การทำสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ เป็นผู้รับจ้างผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งให้แก่กฟภ. นั่นเอง และเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งสองฉบับดังกล่าว วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 กฟภ.จึงมีหนังสือแจ้งบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ว่า กฟภ.เห็นชอบในการโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ผลิตไฟฟ้าตามสัญญาดังกล่าวจากบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ไปให้ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ แล้ว รวมทั้งกฟภ. ยังเป็นผู้แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินโครงการนี้โดย เซท เอนเนอยีให้สกพอ. ทราบมาโดยตลอด
ทั้งนี้ เนื่องจากตามสัญญาระหว่างบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ กับ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ กำหนดให้ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ ต้องจัดหาที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโครงการและในกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยมีการกำหนดวันติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2569 บริษัท เซท เอนเนอยีฯ จึงได้เร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นที่ดินที่สามารถผลิตและจ่ายไฟเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้ากฟภ.ได้ และได้ผ่านการพิจารณาของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ และกฟภ.แล้ว ทั้งยังใช้เงินลงทุนเกี่ยวกับการปรับถมดิน เคลียร์พื้นที่หน้าดิน ล้อมรั้ว จ้างที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ เช่น การเงิน กฎหมาย เทคนิค เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านการกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าในเขตอีอีซี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการขอรับใบอนุญาต และการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานพ.ศ 2551 กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐมาแสดงด้วย แต่ระยะเวลาผ่านไปพอสมควรแล้วกฟภ.กลับไม่ดำเนินการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกฟภ.กับ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ เสียที บริษัท เซท เอนเนอยีฯ จึงมีหนังสือขอให้เร่งรัดกระบวนการให้บริษัท เซท เอนเนอยีฯ เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และขอสงวนสิทธิขยายระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC เนื่องจากความล่าช้าดังกล่าว
ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 กฟภ.มีหนังสือถึงบริษัท พีอีเอ เอนคอมฯ และ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ แจ้งว่า กฟภ.ขอยกเลิกหนังสือแจ้งให้ความยินยอมในการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟ และ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ ไม่ใช่คู่สัญญาซื้อขายไฟกับกฟภ. ที่จะขอขยายระยะเวลาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ รวมทั้งมีหนังสือแจ้งกพอ.ว่า กฟภ.ขอยกเลิกการให้ความยินยอมในการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ ดังกล่าว รวมทั้งขอยกเลิกการยืนยันพื้นที่ติดตั้งโครงการและอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อในโครงการตามที่กฟภ. เคยแจ้งให้กพอ.ทราบด้วย
การกระทำดังกล่าวของกฟภ. ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงความร่วมมือและพันธกิจในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC ที่ได้กระทำร่วมกันมาทั้งหมดระหว่างกฟภ.และบริษัท พีอีเอ เอนคอมฯ กับ บริษัทฯ และส่งผลให้ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจาก บริษัท เซท เอนเนอยีฯ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัทฯ กับ บริษัท พีอีเอ เอนคอมฯ ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อพัฒนาโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด และพลังงานสำรอง ให้แก่โครงการ EEC เท่านั้น ดังนั้น ทั้งบริษัท เซท เอนเนอยีฯ และ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เซท เอนเนอยีฯ จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการกระทำของกฟภ. ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากกฟภ. เป็นวงเงินรวม 3,716,125,291.08 บาท เพื่อชดเชยผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสอง ซึ่งรวมถึงประชาชนที่เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมากของ บริษัทฯ ด้วย
|