
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจากการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จัดการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด “หุ่นยนต์เพื่อสังคม”
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า การจัดการแข่งขันได้เริ่มจัดขึ้นมา เมื่อปี 2551 โดยงานในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 โดยมองเห็นความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านบุคลากร ทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อใช้เวทีตรงนี้ สร้างแรงจูงใจ ให้เยาวชนระดับอุดมศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า เรื่องของหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ปัจจุบันทางรัฐบาลมีนโยบายประกาศให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักในอนาคต ที่จะช่วยยกระดับในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ในการแข่งขันในระดับเวทีโลก ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับรางวัลหลายครั้ง ถือว่าบุคลากรของไทยมีทักษะที่ดี
ผลจากการจัดการแข่งทั้งหมด 8 ครั้ง สามารถสร้างบุคลากรทางด้านนี้ได้กว่า 1,200 คน มีจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จและปัจจุบันก็ทำงานด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการศึกษา รวมถึงด้านอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านจะยังไม่มีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างชัดเจน แต่ว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ใช้อุตสาหกรรมนี้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน ซึ่งภาครัฐมีการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น
สำหรับแนวคิดของการแข่งขันครั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถึงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงถือโอกาสช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ เพื่อรองรับตลาดผู้สูงอายุ เชื่อว่าต่อจากนี้ไปจะมีจำนวนของผู้ประกอบการและการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ผศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ได้ให้การสนับสนุนเอ็มเทคมาอย่างยาวนาน โดยมีวัตถุประสงค์ในเรื่องของการสร้างบุคลากร เพื่อสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของทางมหาวิทยาลัย
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 ซึ่งคณะวิศวกรรมฯ ได้เตรียมความพร้อมทางด้านนี้ ได้เปิดการเรียนการสอนมาแล้ว 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมด้านของบุคลากร รวมถึงการลงทุนสร้างอาคารการเรียนการสอนเพิ่มเติม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมานจากทางศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ในการเป็นผู้นำด้านบุคลากร เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ Industry 4.0
